‘หอการค้า’ แนะรัฐเน้นเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ เชื่อช่วยฟื้นศก.ไทยกลับมาโตได้

‘หอการค้า’ แนะรัฐเน้นเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ เชื่อช่วยฟื้นศก.ไทยกลับมาโตได้

ว่าที่ร้อยเอกจิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคกลาง หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ซึ่งผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้ตลาดโลกซึมตัว กำลังซื้อไม่ได้มากเท่าอดีตที่ผ่านมา การเน้นสร้างรายได้จากต่างประเทศ ผ่านทั้งภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว คงไม่สามารถทำได้เหมือนที่ผ่านมาแล้ว จังหวะในขณะนี้ต้องหันมาฟื้นการบริโภคในประเทศ เพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งมากกว่าเดิม เพราะแม้ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปขายได้มากขึ้น แต่ความสามารถในการซื้อสินค้าไม่ได้มีเท่าเดิม เงินที่จะได้กลับมาก็ไม่ได้มาก จึงต้องพิจารณาความเหมาะสมด้วย แม้ไทยจะไม่ได้มีตลาดใหญ่มาก เพราะจำนวนประชากรไม่เยอะ แต่ก็จำเป็นต้องฟื้นกำลังซื้อในประเทศก่อน จะหวังพึ่งพารายได้จากต่างชาติคงไม่ง่ายแล้ว

“หากเทียบการฟื้นกำลังซื้อและการใช้จ่ายในประเทศต่างๆ อาทิ จีนฟื้นตัวได้เร็ว เพราะจำนวนคนในประเทศมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ตลาดใหญ่ การใช้จ่ายหมุนเวียนจึงมีมากกว่า แต่จะนำไปเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะแม้ไทยจะมีขนาดน้อยกว่า แต่ไทยก็ต้องพยายามฟื้นกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นได้แบบมั่นคงต่อไป” ว่าที่ร้อยเอกจิตร์กล่าว

ว่าที่ร้อยเอกจิตร์กล่าวว่า ในแง่การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ต้องพิจารณาใน 2 มุม ทั้งการนำเข้าและการส่งออก เนื่องจากหากธนาคารแห่งประเทศำทย (ธปท.) สามารถดูแลค่าเงินให้เคลื่อนไหวในระดับ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ จะเป็นการสนับสนุนให้การส่งออกสร้างเม็ดเงินได้มากขึ้น เพราะส่งออกในปริมาณเท่าเดิม แต่อัตราแลกเปลี่ยนของไทยมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งต้องไม่ลืมมองในแง่ของการนำเข้าด้วย เพราะไทยมีธุรกิจที่จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากต่างชาติ การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ทำให้ต้องมีการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ตามต้นทุนที่แพงขึ้น จึงมองว่าหากธปท. ดูแลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ จะเป็นระดับที่พอดี เพราะจะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งการส่งออกและการนำเข้า แต่หากจะให้อ่อนค่าไปถึง 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก็มีข้อดีในส่วนของจะช่วยให้ด้านการส่งออกสินค้าเติบโตขึ้น การบุกเบิกตลาดใหม่ๆ จะทำได้ง่ายขึ้น เพราะราคาของถูกลง แต่ต้องไม่ลืมว่าในสภาวะที่ตลาดโลกซึมตัว กำลังซื้อของต่างชาติไม่ได้มีเท่าเดิม การส่งออกสินไปขายในปริมาณเท่าเดิม อาจจะขายออกไม่หมด ส่งผลให้รายได้ที่กลับมาไม่ดีเหมือนเดิม การดูแลค่าเงินจึงต้องมองทั้ง 2 ขา เพื่อให้ทุกอย่างสอดคล้องกัน ไม่ทิ้งน้ำหนักไปขาใดขาหนึ่งจนทำให้อีกขาหนึ่งได้รับผลกระทบมากเกินไป ในภาคการส่งออก ประเมินว่าหากสามารถเปิดตลาดได้ถูกที่ถูกทาง อาทิ เปิดตลาดส่งออกสินค้าเกษตรได้ดี จะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนมากในประเทศไทย เท่ากับเป็นการฟื้นรายได้และกำลังซื้อในประเทศไปในตัวด้วย

ว่าที่ร้อยเอกจิตร์กล่าวว่า เศรษฐกิจในขณะนี้ การจะฟื้นตัวกลับมาคงทำได้เพียงการกลับไปโตเท่ากับปี 2562 เท่านั้น ซึ่งก็เป็นปีที่ไม่ได้สดใสมากนัก เพราะประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน และเศรษฐกิจโลกซึมตัวในช่วงปีนี้พอดี การกลับมาโตเท่าปี 2562 จึงยังไม่ใช่การเติบโตอย่างแท้จริง แต่เป็นการฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้นก่อน โดยมองว่าหากวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ยังไม่สามารถค้นพบ การกลับมาเติบโตของเศรษฐกิจอย่างแท้จริงยังเป็นไปได้ยาก

Advertisement

ว่าที่ร้อยเอกจิตร์กล่าวว่า สำหรับการขยายพรก.ฉุกเฉิน ออกไปถึงจนถึงสิ้นมืถุนายนนี้ เบื้องต้นประเมินว่าไม่มีผลกระทบในภาคธุรกิจมากนัก เพราะมีการผ่อนคลายมาตรล็อกดาวน์ออกมาอย่างต่อเนื่อง และอนุญาตให้หลายธุรกิจกลับมาเริ่มต้นเปิดได้ตามปกติแล้ว ซึ่งการต่ออายุพรก.ฉุกเฉินเพิ่มเติม น่าจะต้องการควบคุมในส่วนของกลุ่มคนที่ต้องการออกเที่ยวในช่วงกลางคืน ป้องกันการรวมกันเป็นจำนวนมาก หรือการก่อเหตุวิวาท เหตุอาชญากรรมต่างๆ มากกว่า ส่วนผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม คงไม่ได้มีมากกว่านี้แล้ว เนื่องจากธุรกิจไม่ได้ปิดตัวเหมือนช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พอกลับมาเปิดใหม่ ก็เริ่มมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้นแล้ว โดยการต่ออายุพรก.ฉุกเฉิน มองว่าที่ผ่านมาก็ทนได้กว่า 2 เดือนแล้ว ทนต่ออีกเดือน เพื่อให้ทุกอย่างปลอดภัยจริงๆ แล้วค่อยกลับมาเปิดเมืองเต็มที่น่าจะดีกว่าเริ่มต้นเปิดใหม่ แต่ต้องกลับมาปิดอีก เพราะเจอการระบาดระลอก 2 ขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image