สธ.ปรับระบบห้องฉุกเฉิน ยกเซ็ต! รองรับ New normal

สธ.ปรับระบบห้องฉุกเฉิน ยกเซ็ต! รองรับ New normal

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงความปกติใหม่ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน(New normal Emergency Care System) ในช่วงที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เดิมทีแต่ละโรงพยาบาล(รพ.)จะมีผู้ป่วยทั้งที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉินเข้ามาใน รพ. แผนกฉุกเฉิน(ER) ซึ่งทำให้มีความแออัดและเกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อต่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินการในเรื่องของการพัฒนาห้องฉุกเฉิน คือ ระบบคัดกรอง เพื่อคัดกรองผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินเพื่อเข้ารับบริการตามนัด และส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินจะเข้าไปสู่การรักษาพยาบาลฉุกเฉินตามแต่ความรุนแรงของผู้ป่วยเพื่อการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ภายหลังจากมีโรคโควิด-19 ในประเทศไทย จึงต้องมีห้องฉุกเฉินแบบวิถีใหม่(New normal) ป้องกันการแพร่ระบาดในสถานพยาบาล ดังนี้ 1.การคัดกรอง โดยคัดกรองตามความรุนแรงของผู้ป่วย ลดความเสี่ยงและหัตถการที่ก่อให้เกิดฝอยละออง โดยมีขั้นตอนการคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินคือ การซักประวัติความเสี่ยงหรือการสัมผัสผู้ป่วย เช่น การไปในที่ที่มีความเสี่ยง หรือเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ นอกจากการคัดกรองแล้วจะต้องมีระบบของห้องฉุกเฉิน เช่น ห้องแยกความดันลบและชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ เตียงสำหรับขนย้ายผู้ป่วยที่จะมีพลาสติกใสป้องกัน 2.ป้องกันการติดเชื้อ ของเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงญาติและผู้มารับบริการ เช่น การจัดพื้นที่สำหรับญาติผู้ป่วยให้มีการเว้นระยะห่าง 3.การใช้เทคโนโลยี เช่น การแยกกลุ่มผู้ป่วยเพื่อลดการมา รพ. ผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่จำเป็น และการรักษาผู้ป่วยทางไกล ทั้งหมดนี้มีเป้าหมาย คือ ไม่แออัด ลดการรอคอย ทุกคนปลอดภัย

“ทั้งนี้เป็นการปรับทั้งระบบ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบในการปฏิบัติงาน ความพร้อมของบุคลากร เกิดจากความร่วมมือของสมาคมวิชาชีพ ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยและเครือข่ายอื่นๆ สธ.ได้สื่อสารไปยัง รพ.ทุกระดับ เพื่อปรับเปลี่ยนไปในแนวทางนี้ เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์ความเป็นปกติรูปแบบใหม่” นพ.ณรงค์ กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.เฉลิมพล ไชยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เขตสุขภาพที่ 10 รพ.นพรัตนราชธานี กล่าวว่า การพัฒนาห้องสุขเฉิน 1.จุดคัดกรอง ให้ประชาชนมีการเว้นระยะห่างทางสังคม 2.รถฉุกเฉิน บุคลากรทางการแพทย์ผู้ที่ไปรับผู้ป่วยที่บ้านจะต้องมีการสอนใส่ชุดป้องกันตัว(PPE) ทางปรับปรุงห้องฉุกเฉินภายในรถพยาบาลฉุกเฉิน ให้มีความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย 3.หัตถการที่ก่อให้เกิดฝอยละออง เช่น การปั๊มหัวใจ การใส่ท่อช่วยหายใจ หน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีการใส่ชุดป้องกันพร้อมทั้งสวมหน้ากากป้องกันใบหน้า(Face shied) รวมทั้งลดจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ในการทำงานให้น้อยที่สุด เช่น จากเดิมใช้บุคลากรทางการแพทย์ในการทำหัตถการ 5 คนจะต้องลดให้เหลือ 3 คน โดยจะต้องเป็นการฝึกซ้อมในการปฎิบัติงาน และ 4.การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เตียงขนย้ายผู้ป่วยจะมีกล่องพลาสติกคลุม(negative chamber) เพื่อป้องกันฝอยละอองจากผู้ป่วย

นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช

Advertisement

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image