‘หอการค้า’ มองเงินบาทควรอยู่ที่ 33 บาท/เหรียญสหรัฐ แนะ ‘ธปท’ ไม่ควรปล่อยแข็งหรืออ่อนเกินไป

‘หอการค้า’ มองเงินบาทควรอยู่ที่ 33 บาท/เหรียญสหรัฐ แนะ ‘ธปท’ ไม่ควรปล่อยแข็งหรืออ่อนเกินไป

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเมินการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ควรเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่เหมาะสมประมาณ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะเป็นบริเวณที่ช่วยเอื้อประโยชน์ได้ทั้งการส่งออกและนำเข้า เนื่องจากไม่สามารถทำให้ค่าเงินอ่อนหรือแข็งในขาเดียวได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องดูแลให้ค่าเงินเคลื่อนไหวในบริเวณที่ไม่อ่อนและแข็งไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนการจะให้ค่าเงินอ่อนลงหรือแข็งขึ้น ต้องดูว่าสินค้าที่ไทยสามารถผลิตได้ และทำออกมาขายเป็นสินค้าประเภทอะไร จะมองแต่การทำให้ค่าเงินบาทอ่อนมากๆ หรือปล่อยให้แข็งมากๆ ไม่ได้ เนื่องจากหากเงินบาทอ่อนจัด แต่สินค้าขายไม่ได้ เพราะความต้องการไม่มีก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับกันหากเงินบาทแข็งมาก สินค้าไทยมีราคาแพง ขายไม่ออกก็ไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน รวมถึงขณะนี้ ประเทศไทยมีหนี้เพิ่มขึ้น หากค่าเงินบาทอ่อนค่ารุนแรง จะทำให้ต้องชำระเงินคืนในปริมาณมากกว่าเดิม เท่ากับเป็นการเสียประโยชน์มากกว่าได้

“ตอนนี้สินค้าที่รัฐบาลควรสนับสนุน เป็นสินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูป โดยหากสามารถแปรรูปสินค้าเกษตรให้เป็นอาหารได้ จะเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกได้มากขึ้น เพราะภาวะการค้าโลกก็ปรับขึ้นและลงอยู่ตลอดเวลา จึงมองว่าหากไทยสามารถพัฒนาสินค้าใหม่ขึ้นมา และส่งออกมาสินค้าใหม่น่าจะเพิ่มราคาและเพิ่มคุณค่าได้มากขึ้น ส่วนการบุกเบิกตลาดใหม่เพื่อดันสินค้าเกษตรให้ส่งออกเพิ่มขึ้น มองว่าก็ต้องทำ แต่ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาและแปรรูปสินค้าใหม่ๆ ด้วย” นายกลินท์กล่าว

นายกลินท์กล่าวว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ตลาดโลกซึมตัว และเศรษฐกิจโลกไม่สดใสมากนัก การพึ่งพารายได้จากต่างประเทศ ผ่านการส่งออกคงไม่สามารถคาดหวังได้มากเท่าเดิม ขณะนี้การหันมาพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศเป็นเรื่องสำคัญมากที่ควรทำ โดยเฉพาะการฟื้นกำลังการจับจ่ายใช้สอยของเศรษฐกิจระดับชุมชน หรือฐานรากต่างๆ เพราะหากเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งขึ้น ระบบเศรษฐกิจไทยก็จะแข็งแรงตามไปด้วย โดยเชื่อว่าอีกไม่นานจะเริ่มเห็นการกลับมาเดินทางและท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น การกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ เพื่อหมุนเวียนเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายใน ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำเพิ่มเติม

นายกลินท์กล่าวว่า ขณะนี้หอการค้าได้ทำการสำรวจร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพิจารณาเม็ดเงินกู้ที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน สามารถปล่อยได้น้อยมาก ทั้งที่เม็ดเงินจริงมีหลายหมื่นล้านบาท แต่ปล่อยไปยังไม่ถึงครึ่ง ซึ่งสาเหตุก็มาจากการประสานงานระหว่าง ธปท. และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ รวมถึงขั้นตอนการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของผู้ประกอบการด้วย เพราะยังติดเงื่อนไขหลายอย่าง ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงต้องการให้ ธปท.ประสานไปยังธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยเอื้อให้ภาคเอกชนเข้าถึงและดึงเม็ดเงินออกมาได้มากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image