สหภาพ ‘อสมท’ จี้ ‘กสทช.’ ใช้อำนาจอะไร แบ่งเงินเยียวยาคลื่น 2600 ให้เอกชน

สหภาพ ‘อสมท’ จี้ ‘กสทช.’ ใช้อำนาจอะไร แบ่งเงินเยียวยาคลื่น 2600 ให้เอกชน

นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงาน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีเงินเยียวยาในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับ อสมท ว่า มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ส่งหนังสือถามถึงสัดส่วนเงินเยียวยาระหว่าง อสมท และบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด คู่สัญญาในการบริหารเนื้อหาและการตลาด โครงการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก ซึ่งส่วนตัวมองว่าการดำเนินการดังกล่าวของ กสทช. เป็นการข้ามขั้นตอนหรือไม่ เพราะหากมองอย่างเป็นธรรม คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ อสมท ถือครองด้วยความชอบธรรมและเสียค่าธรรมเนียมทุกปี ดังนั้น กสทช. จึงควรพิจารณาเงินเยียวยาให้กับ อสมท ก่อน ซึ่งที่ถูกต้องควรได้ข้อสรุปก่อนนำคลื่นความถี่ออกมาประมูล จากนั้นจึงพิจารณาแบ่งสัดส่วนเงินเยียวยาตามงบลงทุนจริง และแผนธุรกิจของคู่สัญญา

“คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ กสทช. เรียกคืนจาก อสมท ดังนั้น หาก กสทช. คิดจะแบ่งสัดส่วนเงินเยียวยาให้กับเอกชน ต้องตอบตามข้อกฎหมายให้ได้ว่า กสทช. อาศัยอำนาจส่วนไหน อย่างไร อย่าคิดว่า อสมท ไม่มีสิทธิต่อรองเพราะมีคลื่นความถี่อยู่ก็ไม่ทำอะไร ซึ่งยืนยันว่า ที่ผ่านมา อสมท มีความพยายามที่จะนำมาใช้ประโยชน์ แต่ถามว่าใครที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าอุปกรณ์ และใครที่ถือคัมภีร์ว่าสื่อไม่สามารถดำเนินกิจการด้านโทรคมนาคมได้ ซึ่ง กสทช. ตาบอดในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ก็มีช่องทีวีดิจิทัลเป็นของตัวเอง แต่ อสมท ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ กลับไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งเสริมเอกชนทุกอย่าง แต่ผูกขาองค์กรรัฐ ก็ต้องถาม กสทช. ว่าจิตใจคิดอะไรอยู่ ฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้วหรือไม่ในการปรับข้อกฎหมาย และคืนความเป็นธรรมให้กับ อสมท ซึ่งเงินเยียวยาในการเรียกคืนคลื่นความถี่เป็นหนทางหนึ่ง” นายสุวิทย์ กล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวว่า อสมท เคยเสียหายจากความอคติมาแล้วจากการประมูลทีวีดิจิทัล ซึ่งจากการหารือร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ยอมรับว่า กรณี อสมท กฎหมายขัดกัน เนื่องจากตามกฎหมาย อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ กสทช. กลับระบุว่า อสมท ต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนเอกชน ทำให้ อสมท ต้องเสียเงินกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อประมูลทีวีดิจิทัล จนวันนี้ที่ อสมท มีผลประกอบการขาดทุน ซึ่งไม่ได้เกิดจากการทำตัวแย่ แต่เพราะรายได้จากค่าโฆษณาในช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุด (ไพรม์ไทม์) ลดลง จากนาทีละเป็นแสนบาท เหลือนาทีละ 5,000-10,000 บาท ซึ่งรัฐบาลยอมรับข้อเท็จจริงหรือไม่ว่าช่องทีวีดิจิทัลของรัฐที่ยังมีเรตติ้งติดอันดับ และสามารถตอบสนองงานของรัฐได้ คือช่อง 9

“ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาเงินเยียวยาในการเรียกคืนคลื่นความถี่อย่างรอบคอบและดีที่สุด อย่าอคติและคิดว่า หาก อสมท ได้รับเงินเยียวยาแล้วพนักงาน อสมท จะเอามาแบ่งกันใส่กระเป๋ากลับบ้าน เป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่เกือบ 70% ซึ่งมากกว่าที่ถืออยู่กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยามากที่สุดคือกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ได้เข้าพบนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล อสมท เพื่อให้ข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว รวมถึงมีการยื่นคำร้องให้ยับยั้งคำสั่งของนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ อสมท ที่แต่งตั้งผู้บริหาร 6 คนโดยมิชอบ ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับทราบและรับปากว่าจะพิจารณาตามสมควร” นายสุวิทย์ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กสทช. จะพิจารณาเงินเยียวยาในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับ อสมท ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ ซึ่งระยะเวลาที่ใช้พิจารณาเงินเยียวยาในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับ อสมท แบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ 6 ปี และ 8 ปี อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาวงเงินเยียวยามา 3 แนวทาง บนพื้นฐานระยะเวลาครองคลื่นความถี่ 15 ปี ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 กรณีเลวร้ายที่สุด วงเงินเยียวยาอยู่ที่ 1,573.4 ล้านบาท แนวทางที่ 2 กรณีพื้นฐาน วงเงินเยียวยาอยู่ที่ 3,809.8 ล้านบาท และแนวทางที่ 3 กรณีที่ดีที่สุด วงเงินเยียวยาอยู่ที่ 6,685.1 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image