สถานีคิดเลขที่ 12 : หลายๆ‘พฤษภา’ : ปราปต์ บุนปาน

ไปๆ มาๆ หากเทียบกับ “เดือนตุลาคม” แล้ว

“เดือนพฤษภาคม” ดูจะเป็น “เดือนแห่งการรำลึกถึงวาระ-เหตุการณ์ทางการเมือง” ที่กินขอบเขตช่วงเวลายาวนานกว่า บรรจุสถานการณ์สำคัญไว้มากกว่า และอาจส่งผลกระทบถึงปัจจุบันมากกว่า

ขณะเดียวกัน บริบทที่แตกต่างระหว่างเหตุการณ์เดือน “พฤษภาคม 2535” “พฤษภาคม 2553” และ “พฤษภาคม 2557” ก็ส่งผลให้ “อัตลักษณ์ทางการเมือง” ที่ทุกฝ่ายในสังคมไทยมีร่วมกัน ค่อยๆ ขยับขยายตัว ทวีความสลับซับซ้อน และเพิ่มเสริมภาวะไม่ลงรอย ออกไปยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ถ้า “ประชาชน” คือแนวคิดนามธรรม ซึ่งหมายถึงแหล่งรวมประสบการณ์ของปัจเจกบุคคล/พลเมือง/ประชากรแต่ละราย ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และล้มหายตายจากไปแล้ว จากอดีตสู่ปัจจุบัน

Advertisement

ผ่านมาแล้ว “สามพฤษภา” “ประชาชน” ก็ทั้งเคยมีจุดยืนต่อต้านอำนาจนอกระบบ หรือการเข้ามาแทรกแซงการเมืองของกองทัพ

“ประชาชน” เคย (และยัง) แบ่งแยกระหว่างกันด้วยสัญลักษณ์ เช่น สีเสื้อ และนกหวีด อันวางฐานอยู่บนทัศนคติ-ความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

มี “ประชาชน” หลายชีวิต เคยถูกขจัดทิ้ง-ทำลายล้างกลางเมืองหลวง ด้วยยุทธการ “ขอพื้นที่คืน”

และก็มี “ประชาชน” ที่เคยดีใจโล่งอกภายหลังยุทธการดังกล่าว ทั้งยังพร้อมใจกันร่วมลงมือชำระล้างคราบเลือด-ความสูญเสียโดยฉับพลันทันที

ทว่า “ประชาชน” จำนวนมาก ก็เคยเชื่อมั่นว่าพวกเขามีวิธี “เอาชนะทางการเมือง” และส่งสารของตนเอง ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

โดยมี “ประชาชน” อีกจำนวนหนึ่ง ที่เคยต่อต้านการเลือกตั้งและสนับสนุนรัฐประหาร

“รัฐ” เองก็ต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่หลากหลายไม่ต่างจาก “ประชาชน”

ครั้งหนึ่ง “ประชาชน” เคยมอบบทเรียนสำคัญว่าหมดเวลาของ “รัฐทหาร” แล้ว และ “อำนาจรัฐ” ควรถูกบริหารจัดการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

บางครั้ง “รัฐ” ก็ไม่สามารถปกปักรักษาชีวิตผู้คนพลเมืองของตนเองเอาไว้ได้ (หรือจงใจให้เกิดสภาพการณ์เช่นนั้น)

บ่อยครั้ง (ในช่วง 1-2 ทศวรรษหลัง) ที่ความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง (ผู้เป็นตัวแทนประชาชน) และขั้วอำนาจอื่นๆ มักถูกระงับด้วยการ “ประหารรัฐ” แล้วย้อนกลับไปปกครองโดยผู้นำกองทัพอีกหน พร้อมๆ กับวิถีทาง “ประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ” ที่หวนคืนมา

ผ่านมาหลาย “พฤษภาคม”

จุดยืน/แนวคิดของปัจเจกบุคคลหลายรายก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ขณะที่มุมมองของบางคนยังไม่เปลี่ยน

จนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 เราได้พบเห็นการขยับเขยื้อนเข้ามาแสดงบทบาทของ “คนรุ่นใหม่” ด้วยกรอบความคิดและความคาดหวังต่อประเทศชาติในรูปแบบใหม่ๆ

ถ้าการเคลื่อนไหวของพวกเขาบรรลุเป้าหมายบางส่วน สังคมการเมืองไทยก็คงเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย แต่หากล้มเหลว อย่างน้อยที่สุด ประสบการณ์ทางการเมืองของ “ประชาชน” ก็ยังจะได้ขยายกว้างออกไปด้วยมิติที่มีความร่วมสมัยยิ่งขึ้น

ส่วน “รัฐ” ที่คล้ายจะตั้งมั่น-มั่นคง ก็คงมิได้แช่แข็งตัวเองอย่างแน่นิ่ง ทหารหลังปี 2557นั้นไม่ใช่ทหารยุคปี 2534-35 และไม่ใช่ทหารตอนปี 2549 เช่นเดียวกับสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัวไปไม่มากก็น้อย (ดีขึ้นหรือแย่ลงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง)

พลวัตข้างต้นดำรงอยู่ท่ามกลางความคลางแคลงใจ ความไม่ไว้วางใจ การแสวงหาผู้รับผิด และการปฏิเสธความจริง ซึ่งเป็นกระบวนการยื้อยุดระหว่างผู้ด้อยอำนาจกับผู้มีอำนาจ ระหว่างรัฐกับประชาชน หรือระหว่างพลเมืองกับพลเมือง ที่ยังคงคละคลุ้งไม่เสื่อมคลาย

พวกเรากำลังเผชิญหน้ากับเดือนพฤษภาคม 2563 และสถานการณ์ต่างๆ หลังจากนี้ ด้วยตัวตนและประสบการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายเหล่านั้น

เมื่ออดีต-ปัจจุบัน-อนาคตไม่เคยแยกขาดจากกัน

เมื่อการก้าวเดินไปข้างหน้า มิอาจสลัดหลุดจากความขัดแย้งมากมายที่ซุกซ่อน-กระจัดกระจายตัว อยู่ ณ เบื้องหลัง

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image