โรงแรมเตรียมพร้อมรับ เปิด‘ท่องเที่ยวชุมชน’

โรงแรมเตรียมพร้อมรับ เปิด‘ท่องเที่ยวชุมชน’

หมายเหตุความเห็นจาก ททท.และผู้ประกอบการโรงแรม ที่พักและการท่องเที่ยว ถึงความพร้อมและการเตรียมตัวรับการคลายล็อกเฟส 3 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาเพื่อเปิดให้มีการท่องเที่ยวชุมชนประมาณเดือนมิถุนายนนี้


ละเอียด บุ้งศรีทอง
นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน)

หากจะพูดถึงตลาดการท่องเที่ยวไทย ก็จะเป็นกลุ่มเดินทางเชิงธุรกิจคือ ไปนั่น ไปนี่ เป็นบริษัทในเครือ หรือค้าขายข้ามบริษัท เป็นการอบรม ประชุม สัมมนา ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ที่เดินทางมาเพื่อประชุมกลุ่มลูกค้า โครงการวิจัยค้างปีงบประมาณ สิ่งที่อยากเห็น คือ ตลาดท่องเที่ยวหลากสินค้าในเมือง หากมีจริงต้องถามดูว่าพร้อมหรือยัง คนที่จะมาเที่ยวมีความพร้อมมีศักยภาพในการใช้จ่ายและมีเงินหรือยัง

Advertisement

ตอนนี้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ ลูกจ้างทั้งหลายเจอลดเงินเดือน ให้หยุดทำงานชั่วคราวเพื่อได้มีโอกาสได้รับเงินประกันสังคม เพราะเขามีค่าใช้จ่ายต้นทุนที่ต้องใช้ในครอบครัว ทำให้อาจจะไม่มีนักท่องเที่ยวมากนักในกลุ่มนี้ ควรเป็นการผลักไปยังบริษัทใหญ่ที่มีเงินพอในการเดินทางไปประชุมเชื่อมโยงฐานลูกค้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประชุมสัมมนาของกรม กอง ภาครัฐ น่าจะดีกว่า เพื่อให้เงินหมุนเวียนได้ในเชิงเศรษฐกิจ

ในส่วนของโรงแรมหรือที่พักในรูปแบบต่างๆ ในไตรมาสที่ 3 คงยังมองไม่เห็น ส่วนในไตรมาสที่ 4 คือ ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวและมีช่วงวันหยุดจะเห็นหรือไม่ ก็ยังไม่รู้ได้เช่นกัน ช่วงนั้นจะมีวันชาติจีน ส่วนเอเชียไม่ชัด แต่อากาศบ้านเราดี สินค้าท่องเที่ยวพร้อม แต่จะให้โต 56-60% จะทำได้หรือ ที่จะนำร่องได้คือ ค่าใช้จ่ายภาครัฐดีที่สุด

ใครจะไปเที่ยว ทุกคนกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายกันหมด ไหนจะค่าใช้จ่ายในบ้าน คนจะเที่ยวได้คือ คนไม่เดือดร้อน ผู้ประกอบการรายใหญ่จริงๆ หรือกลุ่มคนไทยชอบเดินทางไปต่างประเทศ 10 กว่าล้านคน เพราะคนเหล่านี้มีกำลังจ่ายและวางแผนไว้แล้ว

Advertisement

ต้องมาดูผู้ประกอบการว่าพร้อมหรือไม่ ตามมาตรการของสำนักงานสาธารณสุข หรือคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ เรื่องการป้องกันต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในระยะที่ 2 ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสของรายใหญ่ๆ พร้อมมากกว่ารายเล็กๆ อาจจะยังไม่มืออาชีพพอ ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมนำ เซฟตี้ เฮลธ์ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนต์ (Safety, Health and Environment – SHE) มาใช้สอดแทรกในเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ เป็นมาตรฐานให้กับโรงแรมและร้านอาหาร ก็ยากอยู่และต้องปรับตัว

ตอนนี้มีแขกน้อยก็ดูแลไปให้ดีก่อน ที่น่าผิดหวังคือ การทำงานของประกันสังคม เพราะเวลาเราจ่ายประกันเราจ่ายในรูปบริษัท สั่งจ่ายเช็คเป็นก้อนไปเลย ตรงเวลา แต่พอจะเยียวยาทำไมเลือกเยียวยาเป็นรายตัว ทั้งที่มีฐานข้อมูลของบริษัทอยู่แล้ว ไม่เข้าใจเลยว่า ทำอะไรกันอยู่จึงได้ล่าช้ามาก


โศรยา หอมชื่น
ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
สำนักงานประจวบคีรีขันธ์

หลังจากจังหวัดมีคำสั่งผ่อนปรนมาตรการให้โรงแรมทุกประเภทที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม เปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะนี้มีโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กในพื้นที่ 8 อำเภอ เปิดให้บริการเพียงร้อยละ 30 โดย อ.หัวหินมีเปิดบริการมากที่สุดประมาณ 100 แห่ง ส่วนโรงแรมสถานที่พักที่ยังไม่เปิดบริการ เนื่องจากผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวยังไม่เดินทางข้ามจังหวัด ส่วนใหญ่จะเป็นการท่องเที่ยวในเขตจังหวัด หากเปิดบริการจะไม่คุ้มกับต้นทุน สำหรับโรงแรมที่เปิดให้บริการแล้ว ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ขณะที่ ททท.ได้ดำเนินการคัดเลือกชุมชนท่องเที่ยวนำร่องที่มีความพร้อมสามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คลี่คลาย เป็นชุมชนที่มีมาตรการที่ดีในการป้องกันโรค ไม่ทำให้กลุ่มเสี่ยงในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุหรือเด็ก ได้รับผลกระทบหากเปิดการท่องเที่ยว

ขณะนี้ ททท.ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบ นิว นอร์มอล หรือชีวิตวิถีใหม่ ภายใต้โครงการ Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือ SHA เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยป้องกันความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ โดยมาตรฐาน SHA จะกำหนดแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย “กิน พัก เที่ยว” และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ครอบคลุม 10 ประเภทกิจการ ได้แก่ ภัตตาคาร ร้านอาหาร, โรงแรมและที่พัก, นันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว, ยานพาหนะ, บริษัทนำเที่ยว, สปาหรือนวดเพื่อสุขภาพและสถานเสริมความงาม, ห้างสรรพสินค้า, สนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ, โรงมหรสพ การจัดให้มีมหรสพ การแสดงดนตรี และร้านค้าของที่ระลึก

ล่าสุดได้เปิดระบบให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนและเช็กลิสต์มาตรฐาน ผ่าน www.thailandsha.com จากนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบ หากผ่านมาตรฐาน ททท.จะมอบตราสัญลักษณ์ SHA และจะได้รับการโปรโมตจาก ททท.ทั้งในไทยและต่างประเทศ ให้ลูกค้าทราบแนวทางการให้บริการที่มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ เขียนรีวิวในแบบดิจิทัล ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการทุกประเภทหลังได้รับตราสัญลักษณ์ SHA


อุดม ศรีมหาโชตะ
อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย
เจ้าของโรงแรมบ้านทะเลดาว
อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

หลังมีคำสั่งจังหวัดผ่อนปรนมาตรการให้เปิดกิจการโรงแรม ยอมรับว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวโดยภาพรวมยังไม่ดีขึ้น ทำให้โรงแรมในพื้นที่ อ.หัวหิน และ อ.ปราณบุรี เปิดให้บริการไม่มาก นอกจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องความเสี่ยงจากภาวะขาดทุน ยังมีปัญหาจากต้นทุนในการควบคุมโรค จากการประเมินพบว่ามีโรงแรมที่เปิดมีไม่ถึง 10% สามารถปฏิบัติตามแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ทั้งโครงการ Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือ SHA ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รวมทั้งแนวทางที่เป็นข้อปฏิบัติจากกรมอนามัย เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ป้องกันความเสี่ยงจากโควิด-19 สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว

ขณะที่โรงแรมบ้านทะเลดาว โรงแรมระดับ 3 ดาว ได้ดำเนินการครบทั้งหมด และได้รับป้ายการรับรองมาตรฐานจากกรมอนามัยแสดงไว้ที่เคาน์เตอร์เช็กอินส่วนโซนห้องอาหารของโรงแรมได้แจ้งให้ลูกค้าสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อแจ้งเวลาเข้าออกอย่างเข้มงวด

ขณะนี้ผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องครบถ้วนตาม พ.ร.บ.โรงแรม 2547 เรียกร้องให้ฝ่ายปกครองเข้มงวดกับโรงแรมที่ยังไม่มีใบอนุญาต แต่ได้รับการคุ้มครองชั่วคราวให้ประกอบธุรกิจตามมาตรา 44 กังวลว่าหากปล่อยให้โรงแรมประเภทนี้เปิดกิจการอาจจะควบคุมโรคได้ยาก เนื่องจากผู้ประกอบกิจการไม่ต้องรายงานรายชื่อผู้เข้าพัก ตามแบบฟอร์มที่ทางราชการกำหนดเพื่อตรวจสอบผู้เข้าพักย้อนหลัง ขณะที่โรงแรมที่มีใบอนุญาตต้องรายงานทุกวัน และการเปิดกิจการต้องดำเนินการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ดังนั้น การเปิดดำเนินกิจการไม่ควรปล่อยให้มี 2 มาตรฐาน

ล่าสุดที่ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กได้ขอให้หน่วยงานรัฐให้การสนับสนุนเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และหากจังหวัดไม่มีงบประมาณเพียงพอ ควรเสนอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงแรมที่มีใบอนุญาตและโรงแรมเถื่อน ได้จ่ายค่าธรรมเนียมจากค่าที่พักเป็นรายได้ให้ อบจ.อย่างต่อเนื่อง ส่วนอุปกรณ์สนับสนุนที่จะแจกคาดว่าราคาไม่เกินชุดละ 2,000 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image