ชาวสุขุมวิท 61 คัดค้านสร้างอาคารสูง 43 ชั้น หวั่นกระทบปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน

ชาวสุขุมวิท 61 คัดค้านสร้างอาคารสูง 43 ชั้น หวั่นกระทบปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ร้าน Counting sheep คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม และ ตัวแทนชาวบ้านซอยสุขุมวิท 61 และซอยสุขุมวิท 62(เอกมัย) คัดค้านการก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ 43 ชั้น (โครงการ “Impression Ekkamai”) ซึ่งส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาการจราจร ปัญหาไฟไหม้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ฝุ่นจากการก่อสร้าง PM 10 ปัญหาการใช้กฎหมายแบบเลี่ยงบาลี ตีความแบบที่อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย

โดยคุณหญิงชฎา เปิดเผยว่า ซอยสุขุมวิท 61 เป็นซอยตันและความกว้างถนนไม่ถึง 10 เมตร ไม่สามารถก่อสร้างตึกสูงเกิน 23 เมตร หรือประมาณ 7-8 ชั้น กระทั่งช่วงต้นปี 2562 รับแจ้งว่าจะมีโครงการก่อสร้างเกิดขึ้นในซอยซึ่งมีขนาดใหญ่และสูงสุดในละแวกนี้ มีขนาด 3 ตึก สูงที่สุด 43 ชั้น ซึ่งจะอยู่ในแนวเดียวกันกับบ้าน จึงห่วงว่าจะเกิดปัญหาเรื่องแรกคือด้านสิ่งแวดล้อมทั้งระหว่างก่อสร้าง และหลังก่อสร้าง แสงแดด ทิศทางลม มลภาวะ เสียง และปัญหาอื่น ๆ 2.ความปลอดภัยเนื่องจากเป็น การออกแบบถนนไม่เพียงพอให้รถดับเพลิงขับเข้าไปได้ ร่วมถึงการใช้สาธารณณูปโภคร่วมกันกับคนในชุมชน 3.การจราจรในย่านเอกมัย เพราะมีผู้ใช้ถนนเยอะมาก หากมีอาคารสูงเพิ่มขึ้น การจราจรย่อมต้องหนาแน่นตามไปด้วย ทางชุมชนคัดค้านโครงการนี้และมีความหวังว่าจะมีการปรับปรุงให้เกิดปัญหา

ด้าน น.ส.มาลีนา ปาลเสถียร สมาชิกชุมชนซอยสุขุมวิท 61 กล่าวว่า โครงการนี้ สร้างอาคารจอดรถติดกับฝั่งซอยสุขุมวิท 61 สูงไม่เกิน 23 เมตร แต่ขุดชั้นใต้ดินลงไปอีก 7 ชั้น รวมทั้งหมด 18 ชั้น ขณะที่ถนนตามแบบรอบโครงการกว้าง 6 เมตร แต่หากสร้างจริงรอบอาคารจอดรถไม่มีทางถึง 6 เมตร นอกจากนี้ตามกฎกระทรวงพื้นที่รวมทั้งหมดของโครงการที่ติดกับถนนกว้างไม่เกิน 18 เมตร จะต้องมีขนาดไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร แต่โครงการนี้มีพื้นที่รวมทั้งหมดมากกว่า 40,000 ตารางเมตร ส่วนที่จอดรถรองรับสูงกว่า 300 คัน ทำให้ปริมาณรถบนถนนเอกมัยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 17 ซึ่งเดิมทีการจราจรในถนนเอกมัยก็หนาแน่นอยู่แล้ว

น.ส.มาลีนา กล่าวอีกว่า ทางสมาชิกชุมชนได้พูดคุยข้อเรียกร้องกับทางคชก. และโครงการหลายครั้ง ซึ่งทาง คชก. ได้ส่งรายละเอียดแนวทางการแก้ไขปรับปรุงโครงการมา 62 ข้อ ส่วนทางโครงการตอบกลับมา 6 ข้อ เนื้อหาสาระการแก้ไขน้อยมาก เช่น แก้ไขอาคารจอดรถ จาก 23 เมตร เหลือ 22.97 เมตร ซึ่งดูแล้วยังมีผลกระทบเท่าเดิม ทางชุมชนไม่ได้อยากให้หยุดการก่อสร้าง แต่ขอให้ทำโครงการที่เข้ากับบริบทของคนในชุมชน ความจริงได้พูดคุยขอให้ลดจำนวนชั้นลง หากโครงการทำตามกฎหมาย ภายในซอยเอกมัยถนนกว้างไม่ถึง 18 เมตร ไม่ควรจะมีตึกเนื้อที่เกิน 30,000 ตารางเมตร หากเขาทำตึกเพียง 23 เมตร หรือ 8 ชั้น ก็คงไม่ต้องมาคุยปัญหากันแบบนี้ อย่างไรก็ตามวันที่ 28 พฤษภาคม นี้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) จะประชุมเป็นครั้งที่ 3 เพื่อพิจารณาว่า โครงการจะผ่านการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ซึ่งหวังว่าทาง คชก. จะไม่พิจารณาให้ผ่าน โดยไม่มีการปรับปรุงโครงการ

Advertisement

ขณะที่นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันมีชุมชนในกรุงเทพฯ เข้าร้องเรียนสูงถึง 14 ชุมชน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ กำหนดชัดเจนว่าต้องรับฟังประชาชน แต่ที่ผ่านมากลับมีรายงานเท็จจำนวนมาก เนื่องจากโครงการก่อสร้างเหล่านั้นใช้วิธีทำแบบสอบถามแจกแก่ชาวบ้าน จึงฝากความหวังถึง คชก. ในฐานะที่มีความชำนาญด้านสิ่งแวดล้อม ให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนลงมติให้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ผ่านอีไอเอ และหวังว่าหน่วยงานของรัฐจะทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image