ธอส.ร่วมฟื้นฟูโควิด-19 อัด 2 หมื่นล.ปล่อยกู้ ดอก 1.99% นาน 2 ปี กู้ 1 ล.ผ่อนเพียง 3,300 บาทต่อเดือน

ธอส.ร่วมฟื้นฟูโควิด-19 อัด 2 หมื่นล.ปล่อยกู้ 1.99% นาน 2 ปี กู้ 1 ล.ผ่อนเพียง 3,300 บาทต่อเดือน

นายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการ และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) และ โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ รวมทั้งสิ้น 10 มาตรการ ซึ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริงสามารถเลือกลงทะเบียนเข้ามาตรการที่เหมาะสมกับผลกระทบของตนเอง เพื่อลดภาระรายจ่ายและรักษาที่อยู่อาศัยให้ยังคงเป็นของตนเอง โดย ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2563 เวลา 18.00 น. มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 446,747 บัญชี วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 443,220 ล้านบาท ประกอบด้วย

นายกมลภพ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการร่วมเดินหน้าฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจภายหลังปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น คณะกรรมการธนาคารจึงมีมติเห็นชอบให้จัดทำ โครงการ ธอส. ปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน โดยมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อ โครงการบ้าน ธอส. เราไม่ทิ้งกัน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กู้สำหรับบุคคลในครอบครัวของประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราไม่ทิ้งกันของรัฐบาลมาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน หรือบุคคลในครอบครัวของลูกค้า ธอส. ที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วม มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบให้กับลูกค้าทั้ง 8 มาตรการตาม โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ ผู้กู้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.99% ต่อปี นานถึง 2 ปีแรก ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 3.75% ต่อปี ปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี และปีที่ 5 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้ กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR–1.00% ต่อปี และกรณีรายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.75% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส.เท่ากับ 6.150% ต่อปี)

ทั้งนี้เงินกู้ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้กู้เพื่อซื้อ(ครอบคลุมทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง) ปลูกสร้าง ต่อเติม ขยาย ซ่อมแซม และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัยพร้อมกับการขอกู้ตามวัตถุประสงค์หลัก(ซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ขยาย และซ่อมแซม) วงเงินให้กู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหลักประกัน รวมถึงได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ คิดค่าประเมินราคาหลักประกันในอัตราพิเศษ และให้ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี ยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 30 ธันวาคม 2563

Advertisement

“อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน ถือเป็นโอกาสดีสำหรับคนที่ต้องการมีบ้านเป็นอย่างมาก ธอส. จึงได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1.99% ต่อปี ถือเป็นการแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระของลูกค้าโดยตรง อาทิ กรณีกู้ 1 ล้านบาท จะผ่อนชำระ 2 ปีแรกเพียง 3,300 บาทต่อเดือนเท่านั้น นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับวงเงินกู้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้มีบ้าน ธอส. จึงกำหนดสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio หรือ DSR) ในกรณีลูกค้ารายย่อยเพิ่มเป็นสูงสุดไม่เกิน 50% ของรายได้สุทธิต่อเดือน โดยถือเป็นโครงการที่ครอบคลุมทั้งคนในครอบครัวของผู้ที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่ปัจจุบันมีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวนกว่า 15 ล้านราย และครอบครัวของลูกค้า ธอส. ที่ลงทะเบียนเข้ามาตรการช่วยเหลือจากปัญหาโควิด-19 มากกว่า 4 แสนราย จึงเชื่อว่าโครงการบ้าน ธอส. คนไทยไม่ทิ้งกัน จะสนับสนุนให้ภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ เร็วขึ้น” นายกมลภพ กล่าว

นายกมลภพกล่าวว่า  ตามที่ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จัดทำเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกันด้านการเงิน.com มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรวบรวม และเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลมาตรการด้านการเงินของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง ในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตรงความต้องการของลูกค้า ประชาชนและผู้ประกอบการ  ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยนายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการธนาคาร จึงได้มีนโยบายอย่างเร่งด่วนให้ ธอส. ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงิน  ของรัฐ ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในการพัฒนา Website ดังกล่าว โดยได้วางโครงสร้างการออกแบบเว็บไซต์ เน้นความสะดวกและง่ายต่อการสืบค้นหาข้อมูลมาตรการด้านการเงินต่าง ๆ โดยสามารถเลือกค้นหาได้ทั้งตามสถาบันการเงินของรัฐแต่ละแห่ง ประกอบด้วย 1.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 2.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 6.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) 7.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  8.บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) และ 9.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และเลือกตามกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ ได้แก่ 1.เกษตรกรและ SMEs เกษตรกร 2.ประชาชนฐานรากและบุคคลทั่วไป 3.ผู้ประกอบการ SMEs 4.ผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออก และ 5.Non-Bank ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ยังมีการจัดกลุ่มตามการช่วยเหลือเป็นด้าน ได้แก่ พักชำระเงินต้น/ดอกเบี้ย ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ หรือเติมสินเชื่อใหม่ให้เพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการเงินให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ ตลอดจนสนับสนุนแหล่งเงินให้กับประชาชน   และผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่องหรือมีเงินทุนไปใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากผลกระทบของปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเงื่อนไขในแต่ละมาตรการนั้น   จะขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่งเป็นผู้พิจารณาอนุมัติตามความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

Advertisement

ทั้งนี้ ลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถเข้าดูข้อมูลเว็บไซต์ดังกล่าวได้ทาง www.เราไม่ทิ้งกัน-ด้านการเงิน.com หรือเข้าทางเว็บไซต์ของสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ www.gfa.or.th นอกจากนี้ ยังสามารถคลิกแบนเนอร์ผ่านหน้าเว็บไซต์ของกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเว็บไซต์ของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง โดยเมื่อลูกค้าประชาชนหรือผู้ประกอบการสนใจเลือกใช้มาตรการใด ได้แล้วสามารถคลิกลิงค์เข้าไปยังเว็บไซต์ของสถาบันการเงินของรัฐที่สนใจเพื่อดูรายละเอียดมาตรการ และติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ เป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นการลดความเสี่ยงจากการที่ต้องเดินทางไปติดต่อสถาบันการเงินต่าง ๆ ด้วย สำหรับช่องทางการเข้าสืบค้นหาข้อมูลมาตรการด้านการเงินดังกล่าว สามารถเข้าดูได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image