“ชัชชาติ”ไม่ร่วม “แคร์” รับมีผู้ใหญ่ชวนไประดมความคิดแก้ปัญหาประเทศ

ชัชชาติปัด ไม่ร่วมแคร์รับมีผู้ใหญ่ชวนไประดมความคิดแก้ปัญหาประเทศ เผยยินดีช่วยทุกกลุ่ม ชมสธ.รับมือโควิดดี แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังหนัก รบ.ต้องมีเป้าหมาย สร้างความไว้ใจโดยเร็วไม่งั้นทุ่มงบไปสูญเปล่า

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ชุมชนใต้ทางด่วนซอยนายเลิศ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีกลุ่มการเมืองขั้วฝ่ายค้านซึ่งมีอดีตแกนนำและผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ร่วมกันจัดตั้ง กลุ่มแคร์  CARE หรือ Continue Ability Renew Efficiency โดยเชิญบุคคลสำคัญ เข้าร่วมอีกประมาณ 30-40 คน ว่า

มีผู้ใหญ่ที่สนิทกันโทรศัพท์มาพูดคุยคร่าวๆ เรื่องกลุ่มแคร์ตนก็แปลกใจ แต่จุดประสงค์ของกลุ่มคือจะระดมความคิดเพื่อช่วยเหลือประเทศกันอย่างไรหลังวิกฤตโควิด ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมือง ตนก็แค่รับทราบ ไม่รู้ว่ากลุ่มนี้เป็นใครเป็นอะไร ตอนนี้ไม่ค่อยเน้นเรื่องการเมือง โดยในช่วง 2-3 เดือนมานี้ จะลงชุมชนช่วยเหลือคนเดือดร้อนมากกว่า นี่ไม่ใช่เวลาจะมาคุยกันเรื่องการเมือง แต่ต้องช่วยกันจัดการปัญหาและหาทางออกร่วมกัน ซึ่งแนวคิดของกลุ่มที่จะช่วยเหลือประเทศนั้นก็เป็นเรื่องดี และตนเองก็ไม่ปิดตัวจากทุกกลุ่ม หากได้มาแลกเปลี่ยนความเห็นต่างๆ รัฐบาลจะได้นำไปพัฒนาต่อเป็นรูปธรรมก็ดี

เมื่อถามว่าจะตอบรับหรือไปเข้าร่วมกับกลุ่มแคร์อย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่ายินดีให้ความเห็นทุกๆ กลุ่มใครติดต่อมาก็ยินดีให้ความเห็น เพราะตนได้ลงพื้นที่เห็นปัญหาเยอะ แต่หากจะให้ไปเป็นสมาชิกก็คงไม่เอา เพราะตนอยู่ได้กับทุกกลุ่ม

Advertisement

เมื่อถามว่ามีความเห็นอย่างไรกับการจัดการแก้ไขปัญหาไวรัสโควิดของรัฐบาล นายชัชชาติ กล่าวว่าสำหรับตนมองว่าทีมสาธารณสุขรับมือดีมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศเพราะจำนวนคนติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตในไทยน้อยกว่า แต่ปัญหาที่หนักคือเรื่องเศรษฐกิจที่จะตามมารุนแรงและหนักขึ้น อย่างที่ทราบว่าเรามีงบประมาณจำกัด ยิ่งได้ลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ พบว่าคนในชุมชนมีรายได้หายไปถึงร้อยละ 70 แม้รัฐบาลจะพยายามช่วยเหลือเต็มที่ และอีกปัญหาคือเรื่องฐานข้อมูลของชาวบ้านที่ลำบากจริงๆ ยกตัวอย่างชุมชนย่านทองหล่อที่ตนได้ลงไปสำรวจมาพบว่ามีคนตกงานจากสถานการณ์โรคแพร่ระบาดราว90 คน แต่ที่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท เห็นจะมีประมาณ 20 คนเท่านั้น เพราะปัญหาเรื่องฐานข้อมูลนี้มีมาตั้งแต่ก่อนโรคระบาดซึ่งเรายังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ หากทำให้ดีทั้งเกษตรกรและคนตกงานจะได้รับความช่วยเหลือที่ดีขึ้น อนาคตมองว่าอาจควรผูกบัตรประชาชนเข้ากับฐานข้อมูลต่างๆ เข้าไปด้วยหรือไม่

เมื่อถามว่าให้คะแนนในภาพรวมการจัดการปัญหาของรัฐบาลอย่างไร นายชัชชาติกล่าวว่า ไม่ให้ดีกว่าปัญหาแบบนี้จะมองภาพด้านเดียวไม่ได้ เช่น มิติสาธารณสุขดี แต่ด้านเศรษฐกิจ อาจต้องมีตัวชี้วัดอื่นประกอบ เช่น ปัจจุบันเราเน้นเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ต่างประเทศใช้ตัวเลขผู้ว่างงานประกอบ ทำให้ทราบว่าภาพรวมเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เพราะจีดีพี(การนับรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศ) กับอัตราการจ้างงานอาจไม่สอดคล้องกัน เช่น กลุ่มธุรกิจรายย่อย(เอสเอ็มอี) อาจมีอัตราการจ้างงานเยอะแต่สร้างจีดีพีแค่ส่วนเดียว เพราะจีดีพีตอนนี้อาจไปขึ้นกับบริษัทใหญ่ๆ หากมีดัชชีเหล่านี้มาชี้วัดอาจทำให้แก้ปัญหาได้ถูกจุดยิ่งขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวว่า หลังจากนี้รัฐบาลควรสร้างความไว้ใจทางด้านเศรษฐกิจให้กับทุกภาคส่วน เงินงบประมาณต่างๆ ควรนำไปเน้นการแก้ไขปัญหาระยะยาว เช่น การจ้างงานเด็กจบใหม่ให้ทำฐานข้อมูลต่างๆจัดเก็บไว้ที่ทำได้เลย ให้ลงสำรวจปัญหาชุมชน หรือติดตามแหล่งท่องเที่ยวและร้านอาหาร ระบบคัดกรองและติดตามตัวคนเพื่อเก็บข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ถือเป็นการสร้างงานใหม่ด้วย หรือนำไปปรับปรุงสาธารณสุขตามชุมชน เพราะห้องน้ำอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคซ้ำ จึงต้องกำหนดเป้าหมายเพื่อเร่งสร้างความไว้ใจให้กลับมาโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นการลงเงินประมาณไปก็อาจเสียเปล่า

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image