ปมเงินเยียวยาคลื่น 2600 ไม่ลงตัว ‘กสทช.’​ เตรียมเรียก ‘ผอ.อสมท’​ แจง 27 พ.ค.นี้

ปมเงินเยียวยาคลื่น 2600 ไม่ลงตัว ‘กสทช.’​ เตรียมเรียก ‘ผอ.อสมท’​ แจง 27 พ.ค.นี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ​ กสทช.) เปิดเผย​ว่า วันที่ 27 พฤษภาคม​ 2563 ที่ประชุม กสทช. มีวาระพิจารณาที่สำคัญ 2 วาระ คือ การสรุปวงเงินเยียวยาการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)​ หลังจาก กสทช. นำคลื่นย่านดังกล่าวไปเปิดประมูล 5G เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์​ที่ผ่านมา

“ผมได้ออกหนังสือเรียกนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท เข้าชี้แจงต่อที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 27 พฤษภาคม​ 2563 เวลา 09.30 น.ว่าจะเอาอย่างไร จะแบ่งสัดส่วนอย่างไร หรือให้ใครเป็นผู้แบ่งสัดส่วนเงินเยียวยา เพราะที่ผ่านมาก็มัวแต่เล่นแง่ไม่ยอมตอบหนังสือกลับมาหาสักที โดยทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาวงเงินเยียวยามา 3 แนวทาง บนพื้นฐานระยะเวลาถือครองคลื่นความถี่ 15 ปี ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 กรณีเลวร้ายที่สุด วงเงินเยียวยาอยู่ที่ 1,573.4 ล้านบาท แนวทางที่ 2 กรณีพื้นฐาน วงเงินเยียวยาอยู่ที่ 3,809.8 ล้านบาท และแนวทางที่ 3 กรณีที่ดีที่สุด วงเงินเยียวยาอยู่ที่ 6,685.1 ล้านบาท ซึ่งความเห็นผมนั้น อสมท ควรได้รับไม่ข้อ 2 ก็ข้อ3” นายฐากร กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา กสทช. ได้ให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาสัดส่วนเงินเยียวยาว่าจะให้ กสทช. เป็นผู้แบ่งสัดส่วนเงินเยียวยาดังกล่าวให้อสมทและบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด คู่สัญญา เลย หรือ อสมท จะเป็นผู้แบ่งสัดส่วนเงินเยียวยาดังกล่าวเอง หลังจากคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ มีมติให้แบ่งวงเงินเยียวยาให้อสมท 50% และคู่สัญญา​ 50% แต่สุดท้ายก็ไม่มีข้อสรุป

โดยสัดส่วนการจ่ายเงินเยียวยานั้น กสทช.จะจ่ายเงินเยียวยาให้อสมทและคู่สัญญา​ ในสัดส่วนตามที่ได้รับเงินค่าประมูลคลื่นความถี่​ย่าน 2600 เม​กะ​เฮิรตซ์​ ซึ่งมีระยะเวลาการชำระเงิน 10 ปี 7 งวด โดยเริ่มจ่ายปีแรก 302.3 ล้านบาท ส่วนปีที่ 2-4 ยกเว้นการชำระตามเงื่อนไขการประมูล จากนั้นปีที่ 5-10 จ่ายปีละ 1,063.8 ล้านบาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image