‘ดีอีเอส’​ จ่อเสนอ ครม. สรรหา กสทช. ชุดใหม่ ก่อน พ.ร.บ.องค์กร​จัดสรร​คลื่น​ฯ ใช้ได้ 

‘ดีอีเอส’​ จ่อเสนอ ครม. สรรหา กสทช. ชุดใหม่ ก่อน พ.ร.บ.องค์กร​จัดสรร​คลื่น​ฯ ใช้ได้

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า การที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ดำเนินการสรรหากรรมการ กสทช. ไปก่อนที่กระบวนการแก้กฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) นั้น สามารถทำได้

หากพิจารณาตามประกาศมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. นั้น เป็นการระงับจนกว่าจะมี พ.ร.บ.กสทช. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่ง กรรมการ กสทช. ก็จริง แต่มีการทิ้งท้ายข้อความในประโยคว่า หรือจนกว่า นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ ครม. จะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ ครม.จะเห็นชอบภายใต้คำสั่งของนายกรัฐมนตรี แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย กสทช. เดิม ซึ่งขึ้นอยู่กับเนื้อหาในการนำเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ว่าต้องการให้มีคณะกรรมการชั่วคราวไปก่อนระยะเวลาเท่าไร หรือ จนกว่าจะมีการแก้กฎหมายเสร็จ

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ในประเด็นสำคัญคือ เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการกสทช., แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. กรณีเคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด, ปรับปรุงอำนาจของคณะกรรมการสรรหาในการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของผู้มีสิทธิรับสมัครเข้ารับการสรรหา, ปรับปรุงลักษณะของผู้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกสทช., ปรับปรุงกระบวนการสรรหา คัดเลือก และแต่งตั้ง และเพิ่มการกำหนดให้กรรมการสรรหามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร

Advertisement

อย่าง​ไรก็ตาม​ ก่อนหน้านี้กฎหมายดังกล่าวได้รับการปรับปรุงแก้ไขเป็นฉบับที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2560 แต่พบว่าเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ทำให้การสรรหาและคัดเลือกบุคคลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ได้รับการคัดเลือก จึงต้องมีการแก้ไขข้อขัดข้องในการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image