‘ททท.’ เตรียมหารือ ‘คลัง’ เล็งออกแพคเกจซัพส่วนลดกระตุ้นเที่ยวในประเทศ พยุงสภาพคล่องผู้ประกอบการฝ่าวิกฤต

‘ททท.’ เตรียมหารือ ‘คลัง’ เล็งออกแพคเกจซัพส่วนลดกระตุ้นเที่ยวในประเทศ พยุงสภาพคล่องผู้ประกอบการฝ่าวิกฤต

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยว ที่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศหดตัวตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้สภาพคล่องของภาคเอกชนมีความตึงตัวและบริหารด้วยความเหนื่อย สิ่งสำคัญในตอนนี้ จึงต้องเร่งเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตในช่วงนี้ไปให้ได้ก่อน รัฐบาลจึงมีแนวความคิดในการขอบคุณประชาชนในประเทศ ที่ให้ความร่วมมือในการอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ และควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยการสนับสนุนให้ประชาชนออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยททท. ได้เตรียมหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับข้อเสนอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ พรก.กู้เงินก้อน 400,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนแพคเกจกระตุ้นการท่องเที่ยว ในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ อาทิ การออกคูปองให้เดินทางท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้ให้คนออกเดินทาง และช่วยสนับสนุนส่วนต่างให้ผู้ประกอบการ เบื้องต้นประเมินว่าจะครอบคลุมระยะเวลา 4 เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน 2563 เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนไปสู่ผู้ประกอบการโดยเร็วที่สุด แต่รายละเอียดรูปแบบของแพคเกจที่จะออกมายังไม่ชัดเจน เพราะต้องรอการหารือกับกระทรวงการคลังให้ชัดเจนก่อน

“ต้องหาวิธีทำให้ผู้ประกอบการสามารถชะลอผลกระทบ และพยุงตัวเองผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ก่อน ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดเพราะต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่จะใช้งบประมาณจากพ.ร.ก.เงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ส่วนการปลดล็อกถาคการท่องเที่ยว จะต้องเปิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน และเปิดด้วยความระมัดระวัง ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐก่อน” นายยุทธศักดิ์กล่าว

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ในระยะต่อจากนี้ คาดว่ารัฐจะเริ่มผ่อนคลายกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น อาทิ ร้านอาหาร อุทยานประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และการอนุญาตให้เดินทางข้ามจังหวัดได้ โดยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ททท.ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการสายการบิน ซึ่งพบว่าแม้จะเริ่มเปิดสายการบินได้บ้างแล้ว แต่การบินส่วนใหญ่จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้คนกลับภูมิลำเนา หรือการทำธุรกิจต่างๆ ส่วนการท่องเที่ยวจริงๆ คาดการณ์ว่าในช่วงเริ่มแรกจะเป็นการเดินทางในระยะใกล้ๆ ก่อน และต้องดำเนินตามท่องเที่ยววิถีใหม่ (นิวนอร์มอล) เนื่องจากเรื่องที่กระทบภาคการท่องเที่ยวหนักๆ คือ 1.การจำกัดจำนวนคน 2.การเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งส่งผลต่อการจำกัดจำนวนคนเข้าใช้พื้นที่ต่างๆ ลดลง อาทิ โรงแรม 100 ห้อง อาจต้องเหลือเพียง 80 ห้อง เพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ทำให้ต่อจากนี้ ก่อนจะเดินทางท่องเที่ยวจะต้องเกิดการจองล่วงหน้า เพื่อตรวจสอบและควบคุมปริมาณคนเข้าใช้บริการได้ และเพื่อปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งข้อมูลในภาคการท่องเที่ยว จะเกิดการเซทซีโร่ข้อมูลในภาคการท่องเที่ยวใหม่หมด เพื่อทำชุดข้อมูลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยรูปแบบใหม่แทน

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ได้เปิดตัวโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือ เอสเอชเอ (SHA) ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์มาตรฐานใหม่ ซึ่งรวมไว้ทั้งมาตรฐานด้านความปลอดภัย มาตรการด้านสาธารณสุข และมาตรฐานด้านการบริการ โดยตราสัญเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสุขบวกกับความปลอดภัยในทุกๆ การเดินทางท่องเที่ยว โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการให้ความสนใจสมัครเข้ารับการประเมินมาตรฐานตราสัญลักษณ์เอสเอชเอจำนวนกว่า 1,442 แห่ง โดยภายใน 2 ปี คาดว่าจะสามารถสร้างมาตรฐานตราสัญลักษณ์เอสเอชเอได้กว่า 70% ของธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับภาคการท่องเที่ยวไทยทั้งระบบ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image