‘บลูบิค กรุ๊ป’ แนะองค์กรให้ความสำคัญเทคโนโลยี ช่วยบริหารค่าใช้จ่ายด้านไอทีฝ่าวิกฤตโควิด-19

บลูบิค กรุ๊ปแนะองค์กรให้ความสำคัญเทคโนโลยี ช่วยบริหารค่าใช้จ่ายด้านไอทีฝ่าวิกฤตโควิด-19

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (Bluebik Group) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไปทั่วโลก องค์กรธุรกิจต่างค้นหาแนวทางในการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ และวิธีการทำงานแบบใหม่ เพื่อเป็นผู้อยู่รอดจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยส่วนใหญ่จะเน้นนโยบายในการดูแลต้นทุนและลดค่าใช้จ่าย ซึ่งปกติธุรกิจส่วนใหญ่จะมีรายจ่ายในการใช้เงินลงทุนครั้งใหญ่ ที่ยังไม่สร้างผลกำไรในปัจจุบัน หรือเป็นต้นทุนคงที่ ที่ไม่สามารถปรับลดลงได้ ต้นทุนคงที่จึงเป็นประเด็นหลักที่อาจทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องได้ ซึ่งสถานะทางการเงินถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ใช้หล่อเลี้ยงองค์กร พร้อมทั้งเป็นตัวชี้ชะตาว่าบริษัทจะอยู่รอดหรือเสี่ยงที่จะล้มในวิกฤตนี้ได้ โดยผิดกับต้นทุนแปรผันตามรายได้ ที่หากไม่มีรายได้ ก็จะไม่มีรายจ่ายเกิดขึ้น โดยตามปกติธุรกิจขนาดใหญ่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายแบบใช้เงินลงทุนครั้งใหญ่ หรือหากเลือกจ่ายเป็นรายเดือนก็ต้องดำเนินการแบบผ่อนชำระ ทำให้ค่าใช้จ่ายได้ถูกแปลงเป็นต้นทุนแบบต้นทุนคงทีทอยู่ดี ซึ่งเมื่อองค์กรได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์โควิด-19 ทำให้ระบบไอที ที่ลงทุนไปอาจไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่ จึงทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ สิ่งที่ภาคธุรกิจควรทำคือ แปลงค่าใช้จ่ายด้านระบบไอทีให้เป็นต้นทุนแปรผันตามรายได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจและสามารถอยู่รอดได้ 

นายพชรกล่าวว่า ช่วงวิกฤตเช่นนี้จึงเป็นจังหวะและจุดเริ่มต้นที่ดีของภาคธุรกิจที่จะเริ่มมาใช้ “Cloud computing” เพื่อลดต้นทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเป็นของตนเอง อีกทั้งช่วยลดความยุ่งยากในการติดตั้ง การดูแลรักษาระบบ ที่สำคัญช่วยประหยัดเวลาและยังมีความยืดหยุ่นด้านค่าใช้จ่าย โดยปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ Cloud computing 3 รูปแบบคือ 1.การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและระบบจัดเก็บข้อมูล หรือทำหน้าที่แทน server (Infrastructure-as-a-Service) หรือ IaaS 2. การให้บริการด้านแพลตฟอร์มสำหรับซอฟต์แวร์ (Platform as a Service) หรือ PasS เช่น เว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) ระบบประมวลผลกลางขององค์กรขนาดใหญ่ (Database Server) หรือระบบ API ซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยสูง และ 3. การให้บริการซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน (Software as a Service หรือ SaaS ซึ่งส่วนใหญ่จะคิดค่าบริการตามลักษณะการใช้งาน (Pay-as-you-go) เช่น จำนวนผู้ใช้ ปริมาณที่ใช้ระยะเวลาที่ใช้ เช่น ผู้ให้บริการทางด้านซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ อย่าง Microsoft 365, google suite

นายพชรกล่าวว่า ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี Cloud computing มาช่วยธุรกิจในสภาวะวิกฤตเช่นนี้มีอยู่หลายข้อคือ 1.บริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.เปิดโอกาสในการเข้าถึงตลาดได้เร็ว รวมทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบเอง 3.เทคโนโลยี Cloud จะเอื้อความสะดวกต่อการทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา เนื่องจากระบบจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เพียงแค่มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ก็สามารถทำงานได้ และ 4.การใช้ Cloud ช่วยทำให้การทำงานมีความยืดหยุ่นขึ้น เพราะสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เทคโนโลยี Cloud computing อาจไม่สามารถตอบโจทย์ทุกธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจแต่ละประเภทมีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะ ผู้บริหารสูงสุดและผู้บริหารด้านเทคโนโลยี จำเป็นต้องทำงานควบคู่กันเพื่อวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า เทคโนโลยี Cloud จะสามารถเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้สูงสุดอย่างไร ที่สำคัญต้องทำให้เกิดความร่วมมือทั้งจากฝ่ายธุรกิจและไอที เพื่อออกแบบโครงการสร้าง และสัดส่วนการใช้งานให้ถูกต้อง และเหมาะสมที่สุด รวมทั้งต้องผลักดันให้พนักงานทั้งองค์กรเข้าใจวิสัยทัศน์และการขับเคลื่อนขององค์กรในทิศทางเดียวกันว่าCloud คือตัวแปรสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยให้บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้นายพชรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image