โควิดระบาด ธุรกิจลังเลตั้งบริษัทใหม่ เมย.วูบ34%

นายวุฒิไกร  ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนเมษายน2563 มีจำนวน 3,996 ราย ลดลง 34% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมปีนี้  และลดลง 33% เทียบกับเดือนเมษายนปีก่อน โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 9,012 ล้านบาท ลดลง 40% เทียบปีก่อน ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 471 ราย รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  169 ราย และอันดับ 3 คือ ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 127 ราย   ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน ที่มากที่สุดคือช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 2,944 ราย คิดเป็น 73.67%

ขณะที่ ธุรกิจเลิกประกอบการเดือน มีจำนวน 817 ราย ลดลง 14% เทียบกับเดือนมีนาคม และลดลง 17% เทียบกับเดือนเมษายนปีก่อน   โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 3,785 ล้านบาท ลดลง 1% ยังเป็นตัวเลขสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป  79 ราย   รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 45 ราย  และธุรกิจภัตตาคาร/ ร้านอาหาร  37 ราย โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบการ มากที่สุดคือช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 567 ราย คิดเป็น 69.40%

“ ทำให้ยอดรวมการจดทะเบียนตั้งใหม่ 4 เดือนของปี 2563 มีจำนวน 23,411 ราย ลดลง 12% มีทุนจดทะเบียนตั้งใหม่รวม 80,142 ล้านบาท และเลิกกิจการรวม 3,986 ราย ลดลง 7% มีทุนจดทะเบียนเลิกรวม 18,240 ล้านบาท “ นายวุฒิไกร กล่าว

นายวุฒิไกร กล่าว การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว เดือนเมษายน 2563  มีการอนุญาต 55 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 26 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 29 ราย มีเม็ดเงินลงทุน 6,252 ล้านบาท  นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น  17 ราย เงินลงทุน 2,456 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ฮ่องกง  8 ราย เงินลงทุน 1,648 ล้านบาท และสิงคโปร์ 11 ราย เงินลงทุน 1,138 ล้านบาท

Advertisement

แหล่งข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ลดลง มาจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนทำธุรกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าหากมีการลงทุนในช่วงนี้ ธุรกิจจะเติบโตได้หรือไม่ จากการที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว ซึ่งจะเห็นได้จากธุรกิจที่จัดตั้งใหม่ ปกติอันดับที่ 3 จะเป็นภัตตาคารและร้านอาหาร แต่เดือนนี้ยอดหล่นลงไป เพราะคนไม่มั่นใจว่าตั้งขึ้นแล้ว จะขับเคลื่อนธุรกิจได้หรือไม่ โดยยังได้รับผลกระทบจากการให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งคนบริโภคอาหารในร้านลดลง และไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้ไม่มีกลุ่มลูกค้า

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังชะลอการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ เนื่องจากไม่สะดวกในการเดินทางไปจดทะเบียนที่สำนักงาน ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพราะมีการขอความร่วมมือในการเว้นระยะห่าง และป้องกันการติดต่อกันของคน จากปกติ จะมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่เดินทางมายื่นจดที่สำนักงาน แต่ปัญหานี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้พัฒนาระบบจดทะเบียนนิติบุคคลออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถจองชื่อนิติบุคคลได้ทางออนไลน์ สามารถยืนยันตัวตนทางออนไลน์ ปรับระบบการกรอกข้อมูลให้ง่ายขึ้น เพิ่มรูปแบบการกรอกคำขอแบบง่ายสำหรับการจดตั้งใหม่และการแปรสภาพ และปรับปรุงระบบให้สามารถรองรับอำนาจกรรมการได้ทุกรูปแบบ และกำลังจะพัฒนาระบบให้ผู้แทนรับจดทะเบียน เช่น สำนักงานบัญชี สำนักงานกฎหมาย สามารถจัดทำและยื่นจดทะเบียนแทนผู้ที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลได้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image