อธิบดีกรมชลฯ นำทีมลงพื้นที่ชัยนาท เตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝน

อธิบดีกรมชลฯ นำทีมลงพื้นที่ชัยนาท เตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝน

รับมือน้ำหลาก – เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่สำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวภายหลังลงพื้นที่ประชุม และติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2563 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยา, ประตูระบายน้ำบรมธาตุ และประตูระบายน้ำมโนรมย์ จ.ชัยนาท

พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศ จำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 33,289 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 9,632 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 18 ของความจุน้ำใช้การ ในส่วนของสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) ปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,059 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,363 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 8 ของความจุน้ำใช้การด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 2562/2563 ทั้งประเทศ มีแผนการจัดสรรน้ำ 11,975 ล้าน ลบ.ม.จัดสรรน้ำไปแล้ว 2,388 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 20 ของแผน

ดร.ทองเปลวกล่าวอีกว่า ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนการจัดสรรน้ำ 3,250 ล้าน ลบ.ม.จัดสรรน้ำไปแล้ว 793 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 24 ของแผน สำหรับแผน-ผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 ในเขตชลประทาน ทั้งประเทศ มีแผนเพาะปลูกข้าวนาปี 16.79 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 1.47 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.78 ของแผน ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนเพาะปลูกข้าวนาปี 8.1 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.85 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 10.55 ของแผน โดยพื้นที่ทุ่งบางระกำ แผนเพาะปลูก 265,000 ไร่ เพาะปลูกแล้ว 253,605 ไร่ คิดเป็นเป็นร้อยละ 96 ของแผน ส่วนในพื้นที่ 12 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ทำการเพาะปลูกเมื่อมีฝนตกอย่างสม่ำเสมอ และมีปริมาณน้ำเพียงพอ

Advertisement

ดร.ทองเปลวกล่าวต่อว่า กรมชลประทาน ได้กำหนดมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัย โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.กำหนดพื้นที่ เพื่อทำการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยซ้ำซาก ควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่าง ดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ 2.กำหนดคน โดยกำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด 3.จัดสรรทรัพยากร อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถขุด รถแทร็คเตอร์ และเครื่องมือต่างๆ ในพื้นที่ให้เพียงพอ และอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา

“ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำใกล้เคียง ได้ดำเนินการตามมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัยเรียบร้อยแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้ง เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังคน ที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดอุทกภัย” ดร.ทองเปลว กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image