กางมาตรการ..ยื้อชีวิต ‘โรงเรียน-ครู’ เอกชน ท่ามกลาง..วิกฤตซ้อนวิกฤต

กางมาตรการ..ยื้อชีวิต ‘โรงเรียน-ครู’ เอกชน ท่ามกลาง..วิกฤตซ้อนวิกฤต

โรงเรียนเอกชน – ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบมากมายหลายด้าน ทั้งด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจอย่างมากมาย รวมถึง ด้านการศึกษา

สำหรับผลกระทบด้านการศึกษาที่เห็นได้ชัดเจน คือการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ที่ล่าช้าออกไป เนื่องจากโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ให้กับผู้เรียนในทุกสังกัด หากโรงเรียนยังไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ

โดยร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ดีแอลทีวี) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนแอร์ และสอนเสริมในนักเรียนที่มีความพร้อมผ่านทางออนไลน์

นอกจากการเรียนการสอนจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังเกิดผลกระทบกับการบริหารจัดการของโรงเรียนด้วย โดยเฉพาะ “โรงเรียนเอกชน” ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนในต่างจังหวัด และโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะไม่สามารถเปิดเทอมได้ จึงไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น เช่น การจ่ายภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้ง การจ่ายเงินเดือนครู ซึ่งบางโรงเรียนจำเป็นต้องเลิกจ้างบุคลากรบางส่วน เพื่อพยุงกิจการเอาไว้

แต่หากไม่สามารถยื้อเอาไว้ได้ ก็อาจถึงขั้น “ปิด” กิจการ หรือปิดโรงเรียนเลยที่เดียว !!

ส่งผลให้ สมาคมโรงเรียนเอกชน 18 สมาคม นำโดย นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เดินทางเข้าพบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดูแล และช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนเป็นการด่วน

Advertisement

นายศุภเสฏฐ์ ระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนได้ จำนวนนักเรียนลดน้อยลง เพราะไม่มีใครมาสมัครเข้าเรียน นอกจากนี้ ขอให้รัฐช่วยเหลือสภาพคล่องของโรงเรียนเอกชนด้วย เพราะปัจจุบันโรงเรียนไม่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนจากผู้ปกครอง จึงอยากขอให้รัฐช่วยอัดฉีดเงินให้โรงเรียนเอกชนมีสภาพคล่องมากขึ้นด้วย

นายก ส.ปส.กช.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการคาดการณ์ของ ส.ปส.กช.เชื่อว่าในปีนี้ นักเรียนของโรงเรียนเอกชนจะลดลง 20% ขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนบางแห่งที่ไม่ให้ครูไปทำงานแล้ว แม้รัฐจะส่งเงินอุดหนุนตรงเวลา แต่มีครูบางส่วนที่โรงเรียนไม่ได้ใช้เงินอุดหนุนรัฐจ้าง แต่ใช้เงินจากค่าธรรมเนียมการเรียนจ่ายค่าจ้าง เมื่อไม่มีนักเรียนมาสมัคร และยังไม่เปิดเทอม จึงไม่มีเงินจ้างครูเหล่านี้ นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนชำระภาษีต่างๆ ของโรงเรียนเอกชนด้วย

“ขณะนี้โรงเรียนเอกชนแทบทั้งหมด ไม่มีสภาพคล่อง ต้องการกู้เงินมาช่วยเหลือให้โรงเรียนอยู่รอดต่อไป ซึ่งต่อไป ส.ปส.กช.จะติดตามเรื่องนี้เป็นระยะๆ เพื่อขอทราบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา แต่ไม่รู้ว่าจะทันการณ์หรือไม่ เพราะมีโรงเรียนหลายแห่งเริ่มรับมือไม่ไหว อาจจะต้องยุบโรงเรียนไป ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนกว่า 10 แห่ง ทำเรื่องขอยุบ เพราะสู้วิกฤตโควิด-19 ไม่ไหว” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

เรื่องนี้ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ออกมาระบุว่า ศธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามช่วยเหลือทุกอย่าง ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อยู่ระหว่างการรวบรวมปัญหาให้แล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุด เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการเบื้องต้นที่ สช.ออกมาเพื่อช่วยเหลือ “โรงเรียนเอกชน” และ “ครูเอกชน” ได้แก่ ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) มีมติเห็นชอบให้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน พ.ศ. … และ ประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยืมเงินจากกองทุมส่งเสริมโรงเรียนเอกชนในระบบสำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน พ.ศ. …

จากประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ จะพิจารณาให้โรงเรียนกู้ยืมเงิน หรือยืมเงิน โรงเรียนละไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อให้นำไปบริหารกิจการโรงเรียน โดยการกู้ยืม หรือยืมเงินนั้น ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ซึ่งเกณฑ์การกู้ยืม หรือยืมเงิน จะพิจารณาจากวงเงินอุดหนุนรายบุคคลที่โรงเรียนได้รับจาก สช.หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หลังจากหักค่าใช้จ่ายเงินเดือน และค่าจ้าง โดยให้มีเงินคงเหลือหลังจากหักชำระหนี้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินอุดหนุนที่ได้รับ และให้ใช้บุคคลค้ำประกัน 2 คน ที่มีรายได้ประจำต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท เป็นหลักประกัน

“การกู้ยืมเงิน หรือยืมเงินของโรงเรียนเอกชน จะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ผ่อนชำระคืนภายใน 1 ปี จำนวน 12 งวด ใช้ ทั้งนี้ ทางกองทุนทั้งหมดมีเงินสำรองให้โรงเรียนกู้ยืม จำนวน 605 ล้านบาท และพร้อมที่จะปล่อยให้โรงเรียนกู้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนนี้ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนหลายแห่งเรียกร้องว่าการคิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 อาจจะแพงเกินไป ขณะนี้ สช.อยู่ระหว่างการหาทางช่วยเหลือเรื่องนี้อยู่ ซึ่งต่อไปอาจจะเก็บน้อยลง หรือให้ปลอดดอกเบี้ยไปก่อน เป็นต้น” นางกนกวรรณ ระบุ

ทั้งนี้ ขั้นตอนการกู้ยืมเงินของโรงเรียนเอกชนในระบบที่มีสิทธิกู้ยืมเงิน และยืมเงินได้ สามารถยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงินและคำขอยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน ได้ตั้งแต่วันที่ 1-10 มิถุนายน สำหรับการชำระหนี้เงินกู้ยืม หรือเงินยืม ให้หัก ณ ที่จ่ายจากวงเงินอุดหนุนรายบุคคลที่ได้รับ โดยการกู้ยืมเงินให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 และการยืมเงิน ให้ปลอดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ สช.ยังได้รวบรวมข้อมูลเสนอรัฐบาล และสถาบันการเงิน เพื่อให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบปัญหาทางการเงิน โดยการให้ “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขณะนี้ สช.เสนอเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาแล้ว

ซึ่งมีโรงเรียนเอกชนจะขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำทั้งหมดจำนวนกว่า 4,100 ล้านบาท เพื่อนำมารักษาสภาพคล่องในกิจการของตน

สำหรับ มาตรการช่วยเหลือครู และบุคลากรในโรงเรียนเอกชน เช่นกัน โดยให้บุคลากรซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จำนวนกว่า 100,000 คน ที่ถูกสั่งปิดโรงเรียน และโรงเรียนงดจ่ายเงินเดือนค่าจ้าง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สามารถยื่นขอรับเงินทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ ยังมี มาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) มีดังนี้ งดคิดดอกเบี้ย และค่าปรับสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (กองทุนเลี้ยงชีพ) ลูกหนี้เดิม (โครงการ 1-4) เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 ตุลาคม 2563) และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ จาก 4.5% ต่อปี เหลือ 4% ต่อปี (ยกเว้นโครงการที่ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว) ในโครงการที่ 3-4 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป โดยมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว จะมีผลอัตโนมัติโดยที่สมาชิกไม่ต้องยื่นคำร้องใดๆ

นอกจากนี้ จัดตั้งสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) โครงการ 5 เพื่อขยายสิทธิให้กับสมาชิกที่มีอายุงาน 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี มีสิทธิกู้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ โดยเพิ่มวงเงินจากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 90 ของเงินสะสม (3%) และส่งเงินสะสม 60 งวดขึ้นไปต่อเนื่อง สำหรับสมาชิกที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป กู้ได้ร้อยละ 90 ของเงินสะสมและเงินสมทบ (12%) โดยส่งเงินสะสมและเงินสมทบ 120 งวดขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในการชำระค่างวดน้อยลง

ก็ต้องติดตามว่ามาตรการต่างๆ ที่ ศธ.และ สช.ทยอยปล่อยออกมา เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน และครูเอกชน ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ซ้ำเติมสถานการณ์ย่ำแย่ของโรงเรียนเอกชนอยู่แล้ว ให้ยิ่งแย่ลงไปอีกนั้น

จะช่วย “พลิกฟื้น” สถานการณ์ เพื่อ “ยื้อชีวิต” ให้ “โรงเรียนเอกชน” ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image