เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ต้องจัดสรรตรงให้ชุมชนท้องถิ่น โดย ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ต้องจัดสรรตรงให้ชุมชนท้องถิ่น โดย ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

เงินกู้ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมมีจำนวนเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้กับโครงการที่เกี่ยวกับ 4 แผนงาน ได้แก่ 1) แผนงานลงทุนและกิจกรรมพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้า
และการลงทุน ท่องเที่ยวและการบริการ 2) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน 3) แผนงานกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน การลงทุนต่างๆ ของเอกชน 4) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนกระบวนการผลิต ซึ่งแผนงานทั้ง 4 แผนงาน พบว่ายังไม่มีรายละเอียดโครงการหรือกิจกรรมให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแต่อย่างใดเพื่ออนุมัติให้ความเห็นชอบเงินกู้ดังกล่าว

ทั้งนี้ เห็นว่ารัฐบาลโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพิ่งมีหนังสือเอกสารสั่งการให้หน่วยงานทุกส่วนราชการทั้งระดับกระทรวง กรม จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำข้อเสนอโครงการและให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณา และอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ด้วยความเร่งรัดตามกรอบระยะเวลา ทั้งๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรต้องรับรู้รายละเอียดว่าเงินกู้จะไปตอบโจทย์การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้มากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ ข้อกังวลการใช้เงินกู้จึงไม่แน่ใจนักว่าจะทำให้เม็ดเงินกู้ จำนวน 400,000 ล้านบาท จะกระจายถึงประชาชน ครัวเรือน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ซึ่งเห็นว่าการให้หน่วยงานส่วนราชการเสนอโครงการหรือกิจกรรมให้นั้นเป็นวิธีคิดแบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง และจากประสบการณ์การจัดทำโครงการหรือกิจกรรมที่ถูกสั่งการให้ส่วนราชการเขียนโครงการส่งให้ส่วนกลางนั้น มักจะไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา หรือจะนำไปพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง จึงเป็นห่วงว่าเงินกู้อาจจะถูกละลายไปกับส่วนราชการต่างๆ มากกว่าถึงมือประชาชน

Advertisement

ทั้งนี้ เพราะเม็ดเงินกู้ 400,000 ล้านบาท จะมีโครงการหรือกิจกรรมจะถูกกระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ ทั้งระดับกระทรวง กรม และจังหวัด ต่างๆ แบบเบี้ยหัวแตกแบบหน่วยงานใครหน่วยงานมัน โดยเฉพาะคณะกรรมการกลั่นกรองจะพิจารณาและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างไร เมื่อต่างหน่วยงานต่างก็ส่งโครงการเข้ามามาก เพราะต่างก็อยากได้งบประมาณเข้าหน่วยงานตนเอง และจะกระจายงบประมาณเพื่อตอบโจทย์แผนงานให้ครอบคลุมทั้ง 4 แผนงานอย่างไร

เราจะทำให้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าได้อย่างไรเช่นกัน นั่นก็คือการทำให้เม็ดเงินส่วนนี้ถึงมือประชาชนในระดับครัวเรือน กลุ่ม องค์กรชุมชนท้องถิ่น ภาคเกษตรกรรม ธุรกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว มากกว่าเม็ดเงินไปตกอยู่ที่หน่วยงานส่วนราชการระดับต่างๆ เพื่อจะได้ตอบวัตถุประสงค์การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ภาคการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว และการบริการ สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ท้องถิ่น เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ รวมทั้งกระตุ้นการบริโภคครัวเรือนเอกชนได้

ผมจึงขอเสนอให้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งต้องจัดสรรเงินตรงไปให้ “ครัวเรือน กลุ่ม องค์กรชุมชน” เพราะเท่ากับเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้มากกว่ากระจายเงินไปให้ส่วนราชการ อย่างน้อยได้กระตุ้นการบริโภคครัวเรือน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นได้ ไม่ว่าจะไปฟื้นฟูกลุ่ม OTOP กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เกษตรพอเพียง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกรรม ตลอดจนกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต เป็นต้น ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมการคิด การบริหารจัดการชุมชนของเขาเอง ถือเป็นการจัดการตนเองของชุมชนที่จะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนใหม่ๆ ขึ้นมา

Advertisement

อีกส่วนหนึ่ง จัดสรรเงินร้อยละ 10 ของเงิน 400,000 ล้านบาท เท่ากับประมาณ 40,000 ล้านบาท ให้กับ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)” แต่ละประเภท ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยจัดสรรให้แต่ละแห่งตามฐานประชากรของแต่ละท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง เพื่อให้ อปท.นำเงินส่วนนี้ไปกระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจในการสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ อปท.มีอิสระที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจ การเพิ่มผลผลิต ทั้งทางพัฒนาการเกษตร การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน OTOP ตลอดจนการจ้างงานในชุมชน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้าง
พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตที่มีส่วนเชื่อมโยงบูรณาการกับทุกแผนงาน และถือว่าเป็นการทำให้ อปท.แข่งขันกันพัฒนาขีดความสามารถของตนเองในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละแห่ง

ผมจึงเห็นว่า การจัดสรรเงินโดยตรงให้กับ “ครัวเรือน กลุ่ม องค์กรชุมชน” กับ จัดสรรให้ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” จะเป็นการกระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าเม็ดเงินได้มากกว่า เพราะชุมชนท้องถิ่นอยู่ใกล้ฐานข้อมูลย่อมรู้ข้อมูลครัวเรือนของกลุ่มองค์กรชุมชน และสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นได้ดีกว่า ส่วนบทบาทของส่วนราชการควรทำหน้าที่เป็นผู้คอยวางกรอบนโยบายและคอยติดตามความก้าวหน้า ตรวจสอบการดำเนินงานให้มหาวิทยาลัยในภูมิภาคเป็นผู้ประเมินผลการใช้งบเงินกู้

อย่างไรก็ตาม กลไกการตรวจสอบเงินกู้ที่ได้ส่งตรงไปยังชุมชนท้องถิ่นนั้นย่อมมีภาคประชาสังคม กรรมการชุมชน และสภาท้องถิ่น คอยเป็นผู้คอยตรวจสอบความโปร่งใสร่วมกับหน่วยตรวจสอบระดับพื้นที่ เพื่อทำให้การใช้เงินกู้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างแท้จริง จึงเห็นว่าการจัดสรรเงินกู้ไปให้ชุมชน ท้องถิ่นโดยตรง ย่อมเกิดประโยชน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมได้ มากกว่าผ่านหน่วยงานราชการอย่างแน่นอน

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image