28 ส.ค.ลุ้นเลือกกก.เนติบัณฑิตยสภา เปิดทีมตัวเต็งแต่ละสาย ใครแรง? ใครแผ่ว?

ลุ้นเลือก กก.เนติบัณฑิตยสภา63 ใครมาวิน สายบุคคลทั่วไป อรรถพล-สราวุธ-เกียรติขจร มีโอกาสยกทีม5คนผ่านฉลุย จับตาสายอัยการปีนี้ดุเดือดที่สุดรอบหลายสิบปี “ทีมสิงห์ชัย-ปรเมศวร์-ชัชชม”เเม้เเข็ง เเต่มีโอกาส โดน”ศุภกิตต์-พฤฒิพร” เบียด ส่วนสายทนาย ทีม”สมบัติ”โดดเด่นเเต่เชื่อคละกันเข้า สายศาล “อำนาจ-ธานี-เอื้อน-ประเสริฐ-ทองธาร”ทีมแน่น เเทรกยาก

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเนติบัณฑิตยสภาจะดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาชุดใหม่แทนคณะกรรมการชุดเดิมที่จะหมดวาระลงในวันที่ 11 กันยายน นี้ โดยมีกำหนดส่งบัตรเลือกตั้งให้สมาชิกวันที่ 18 มิถุนายน โดยให้ส่งบัตรลงคะเเนนคืนภายในวันที่ 28 สิงหาคม ก่อนเวลา 16.30 น.เเละตรวจนับคะเเนนวันที่ 29 ส.ค.

ทั้งนี้บัตรเลือกตั้งกรรมการเนติฯจะมี4ประเภทดังนี้

1.บัตรสีฟ้าเป็นประเภทข้าราชการตุลาการ
2.สีชมพูเป็นประเภทข้าราชการอัยการ
3.สีเหลืองเป็นประเภททนายความ
4.สีเขียวเป็นประเภทบุคคลอื่น

Advertisement

โดยภายในซองบัตรเลือกเลือกตั้งแต่ละประเภทจะประกอบด้วยบัญชีรายชื่อสามัญสมาชิกผู้มีสิทธิ์ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการเนติฯ และส่งไปรษณีย์สำหรับใส่บัตรเลือกตั้งเพื่อส่งกลับมายังเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งสามารถเลือกตั้งกรรมการเนติฯจากบุคคลในประเภทของตนจำนวนไม่เกิน 5 คน

สำหรับเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปภัมภ์ เป็นองค์การอิสระ ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ถือเป็นสถาบันสำคัญที่มีบทบาทส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยด้านวิชาการของการประกอบอาชีพทางกฎหมายรวมทั้งจัดหาทุน ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก รวมถึงมีการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย

มีคณะกรรมการ 23 คนประกอบด้วยประธานศาลฎีกา เป็นนายกเนติบัณฑิตยสภา  ประธานศาลอุทธรณ์ เป็นอุปนายกฯคนที่ 1 และอัยการสูงสุด เป็นอุปนายกฯคนที่ 2 คณะกรรมการที่เหลือ20คนมาจากการเลือกตั้งจาก สายตุลาการ อัยการ ทนายความ เเละบุคคลอื่น สายละ 5 คน โดยกรรมการมีวาระ4ปี

Advertisement

การเลือกตั้งกรรมการเนติบัณฑิตยสภาประจำปี2563 ที่น่าจับตามอง ของสายศาลจะเป็นผู้พิพากษาสายวิชาการที่เป็นอาจารย์สอนในเนฯมาหลายสิบปีได้เเก่ นายธานี สิงหนาท ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญวิชาพยาน  สอบอันดับ1ผู้ช่วยผู้พิพากษา เป็นที่คาดหมายว่าได้ขึ้นประธานศาลฎีกาในอนาคต ,นายเอื้อน ขุนแก้ว ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา สอบอันดับที่1 เนฯ เเละผู้ช่วยฯรุ่น32 ผู้พิพากษาสายวิชาการที่เขียนตำราหลายเล่มโดดเด่นในกฎหมายล้มละลาย ,นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ อธิบดีศาลแพ่งตลิ่งชัน (เลขาธิการสำนักอบรมและศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาคนปัจจุบัน) เเละอาจารย์เนฯหลายสิบปี ,นายทองธาร เหลืองเรืองรอง ผู้พิพากษาศาลฎีกา , นายอำนาจ พวงชมพู ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ อดีตอธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตฯคนเเรก ซึ่งเป็นอาจารย์นักกฎหมายที่มีบุคลิกใจดี สมรรถะ ผู้คนนับถือ จับกลุ่ม5คนเป็นทีมเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีนายวิบูลย์ แสงชมพู ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม(กบศ.)เเละอดีต คณะกรรมการตุลาการ (กต.)ที่น่าจับตามอง


สายอัยการปีนี้สู้กันดุเดือดกว่าสายอื่นๆอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในรอบหลายสิบปีเเละเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาปีนี้มีกำหนดต้องมาจากอัยการ

ทีมที่มาเเรงคงไม่พ้นทีมของ นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ซึ่งมีคิวต่อไปจะขึ้นตำเเหน่งอัยการสูงสุด , นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ,นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรีอัยการคนดังหน้าสื่อ,นายมั่นเกียรติ ธนวิจิตรพันธ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ,น.ส.นารี ตัณฑเสถียร์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย รวม5 คนเป็นทีมเดียวกัน

ส่วนประเภทบุคคลที่มีโอกาสเเทรกเข้ามาเป็น1 ใน5 ได้เเก่ ม.ล.ศุภกิตต์ จรูญโรจน์ อัยการพิเศษฝ่ายพัฒนากฎหมาย เนื่องจากโดดเด่นงานบริหารและงานวิชาการ เป็นอาจารย์ผู้บรรยายกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และแห่งอื่น ๆ เป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการรองอัยการสูงสุดและอัยการสูงสุดมาหลายสมัยติดต่อกัน ในปัจจุบันมีบทบาทในการผลักดันให้มีการปรับปรุงโครงสร้างและตำแหน่งของอัยการมาโดยตลอด รวมทั้งสิทธิประโยชน์ ค่าตอบแทน และกรอบอัตรากำลัง ทั้งมีนโยบายมุ่งผลักดันนำระบบดิจิทัลเเละนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้บริหารจัดการความรู้ของเนติบัณฑิตยสภาสู่ระบบออนไลน์

นางพฤฒิพร เนติโพธิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย เป็นอัยการคุณภาพที่มีผลงานโดดเด่นทั้งในด้านสายงานวิชาการและสายงานบริหาร เป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขานิติศาสตร์ อาจารย์สอนกฎหมายที่เนติบัณฑิตยสภา อยู่ในสายงานให้คำปรึกษาและตรวจร่างสัญญาของรัฐมากว่า 20 ปี มีบทบาทสำคัญในการรักษาประโยชน์ของรัฐในการตรวจร่างสัญญาและเจรจาต่อรองโครงการรถไฟฟ้า 3 สนามบิน และโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ของอีอีซี ที่ลงเลือกตั้งมีนโยบายเด่นมุ่งผลักดันให้อัยการมีบทบาทในเนติบัณฑิตยสภามากขึ้น

อย่างไรก็ตามในสายอัยการยังมีบุคคลที่น่าจับตา อย่างมาก เช่น นายชาตรี สุวรรณิน ผู้ตรวจการอัยการ เเละ นายศักดา ช่วงรังษี รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เเละรองเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา มีบทบาทสำคัญเเละเป็นที่นับถือในหมู่อัยการอย่างมาก ที่อาจจะเบียดเข้าวินได้ การเลือกตั้งกรรมการเนฯสาวอัยการจึงน่าจับตามากกว่าสายอื่นในเรื่องการเเข่งขัน

สายทนายความก็มีเเข่งขันดุเดือดไม่เเพ้กัน ทีมที่น่าสนใจหลายทีม ทีมละ5คน  ที่น่าจับตา คือ 1.ทีมนายกสภาทนายความคนปัจจุบันที่นำโดย ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายฯ 2สมัยติดต่อกันทีมรวม 5 คน

 

2.ทีมว่าที่พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา เเละอดีตผู้บริหารสภาทนายความชุดที่เเล้ว

3.ทีม ศ.(พิเศษ)ดร.เดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความหลายสมัย

4.ทีมห้าทนายความ”คณะตราสามดวง”นำทีมโดยนายนคร พจนวรพงษ์ คนดังในทีมนี้ เป็นข่าวบ่อยๆคือทนายอนันต์ชัย ไชยเดช

ซึ่งในสายทนายความนี้ใน ช่วงต้นมองว่ายังประเมินผลกันยากทีมไหนมีโอกาสได้รับเลือกซึ่งมีเเนวโน้มว่าทนายความอาจจะเลือกเป็นรายบุคคลของเเต่ละทีมผสมกันมากกว่าเลือกยกทีม

ส่วนสายบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นสายที่คาดว่าจะมีสมาชิกที่ลงคะเเนนมากที่สุด เพราะประกอบไปด้วยผู้มีความรู้ทางกฎหมายในหลายหน่วยงานที่ไม่ได้อยู่ใน3ประเภทข้างต้น ซึ่งในสายบุคคลทั่วไปนี้มีทีมที่มีความโดดเด่นมากมีโอกาสได้รับเลือกยกทีม

เนื่องจากสมาชิกเเต่ละคนที่มีชื่อเสียงในวงการนักกฎหมายของประเทศ 5คน ประกอบด้วย 1.นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการอดีตอัยการสูงสุด ที่ยังมีบารมีได้รับความนับถือเเละนิยมในหมู่อัยการอย่างสูง รวมถึงลูกศิษย์นักกฎหมายที่มีจำนวนมากไม่เสื่อมคลาย เเละยังเป็นอาจารย์สอนที่เนติบัณฑิตยสภามาอย่างยาวนานหลายสิบปี 2.นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมคนปัจจุบัน ที่มีบทบาทการบริหารงานของสำนักงานศาลฯที่โดดเด่น สร้างผลงานใหม่ๆให้ศาลยุติธรรม ไม่ว่าจะะผลักดันคอร์ทมาเเชลจนสำเร็จ เเละมีผลงานทั้งในเรื่องวิชาการเเละเรื่องการนำระบบดิจิทัลมาใช้พัฒนาในศาลยุติธรรมส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยรวดเร็ว ประหยัด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ประชาชนเข้าถึงศาลยุติธรรมได้ง่ายกว่าในอดีต 3. ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ เเห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรมาจารย์ด้านวิ.อาญาที่มีลูกศิษย์ให้ความเคารพนับถือทั่วประเทศ 4. นายสมชาย จุลนิติ์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเคยได้รับความไว้วางใจเป็นทั้ง กต.เเละ กบศ.ในศาลยุติธรรม และ5. ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ที่ได้รับการรับรองสถานภาพเป็นองค์กรเครือข่ายสหประชาชาติด้านกระบวนการยุติธรรม แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image