จัดแมชชิ่งตลาดแรงงาน ลดเสี่ยงตกงาน7ล้านคน นำร่อง29บริษัท  หอค้าไทยแนะรัฐทำ”ยุทธศาสตร์ใหม่”รับนิวนอร์มอล

ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในไตรมาส 3 ปีนี้ ภาคเอกชนยังวิตกในเรื่องปัญหาการว่างงาน เป็นผลกระทบต่อเนื่องตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนมีการออกมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ส่งผลต่อธุรกิจและหลายธุรกิจเกิดการหยุดชะงัก โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นการประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดในรูปแบบต่างๆ เช่น ลดอัตราเงินเดือน นำระบบดิจิทัลมาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น และบางส่วนลดพนักงาน ซึ่งจากการสำรวจของหอค้าทั่วประเทศ 2 เดือนก่อน พบว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ว่างงานถึง 7 ล้านคน ขณะที่สภาพัฒน์คาดโอกาสตกงานถึง 8.4 ล้านคน และทั้งปีคนว่างงาน 2 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มปลดล็อกและผ่อนปรนเปิดธุรกิจให้กลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง ก็จะเห็นการปรับตัวแล้ะเกิดวิถีใหม่(นิวนอร์มอล)เพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนตามวิถีใหม่ แรงงานบ้างสาวนเริ่มกลับมา แต่บางส่วนยังได้เยียวยา 5 พันบาทก็ยังไม่ได้หางานใหม่ แต่เพื่อลดปัญหาต่อไป หอการค้าไทย ร่วมกับบริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย เปิดตัวแพลตฟอร์ม” PEOPLE+ WORK CONNECT” สนับสนุนองค์กรให้บริหารอุปสงค์และอุปทานด้านแรงงาน โดยเฟสแรกเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างธุรกิจกับธุรกิจเริ่มตั้งแต่ 2 มิถุนายน เพื่อให้แต่ละธุรกิจแมชชิ่งในเรื่องแรงงาน ซึ่งจะได้รู้ว่าธุรกิจใดต้องการแรงงานอย่างไร และธุรกิจใดจะเลิกจ้างบุคลากร

” มีบริษัทขนาดใหญ่เข้าโครงการแล้ว 29 บริษัท เบื้องต้นจะเป็นชะลอการตกงานและลดการว่างงานกับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไปก่อนหน้านี้ อาจยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเกิดจ้างงานใหม่เท่าไหร่ แต่ก็เป็นการชะลอการเลิกจ้าง เพราะขณะนี้หลายธุรกิจมีการขยายธุรกิจและต้องการบุคลากรที่ต้องกับวิถีธุรกิจใหม่ ”

นายกลินท์ กล่าวว่า อีกเรื่องที่เอกชนวิตกคือปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลาย ทิศทางจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้หอการค้าไทย กำลังรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน และหารือกับทุกหน่วยงานในภาครัฐ โดยหลักสำคัญคือยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เพราะโควิดทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป คงต้องมาทบทวนเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การจัดอันดับความสำคัญของแผนงานและแนวทางขัดเคลื่อนว่าอะไรควรทำก่อนหรือทำหลัง รวมถึงการพิจารณาใช้งบประมาณประเทศด้วย

Advertisement

“ เร่งรัดทำให้เร็วที่สุด เพราะเมื่อโควิดคลี่คลายลง ต้องเดินหน้าได้ทันที รัฐบาลต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าก้าวจากนี้รัฐบาลจะทำอะไร ยุทธศาสตร์ที่มีอยู่เหมาะสมและทันสมัยต่อเหตุการณ์ไหม  อีกทั้งเร่งรัดเรื่องค้างคาที่รัฐบาลยังไม่ได้รับปาก เช่น ปัญหาน้ำ เอกชนเป็นห่วงเรื่องนี้มากที่สุด รัฐต้องเริ่มแล้วว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำแล้งน้ำขาดหรือน้ำเกินจนเกิดท่วม หากแก้ไม่ได้เสียหายทั้งธุรกิจและงบประมาณ เรื่องนี้เคยเสนอให้รัฐเร่งจ้างแรงงานท้องถิ่นในการเอาบริหารจัดการน้ำและกระจายการใช้งบประมาณด้วย  เรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องเดินหน้าเพราะการเจรจาระหว่างประเทศต้องใช้เวลา 1-2 ปีกว่าจะได้ข้อสรุป เป็นต้น เรื่องวิถีประเทศใหม่หลังโควิดทุกประเทศกำลังทบทวนเช่นกัน เราไม่ควรช้า “ นายกลินท์ กล่าว

นายกลินท์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนเชื่อว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 2563 ดีกว่าครึ่งปีแรกแน่นอน เพราะเริ่มปลดล็อกธุรกิจหลังจากปิดชั่วคราวประมาณ 90% เอกชนและรัฐก็เร่งในการผลักดันกำลังซื้อและการเข้ามาลงทุนอีกครั้ง แต่ก็ยังมองว่าจีดีพีทั้งปีนี้ยังติดลบ 5%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image