วิถี ‘นิว นอร์มอล’ ปรับเพื่ออยู่รอด

วิถี ‘นิว นอร์มอล’ ปรับเพื่ออยู่รอด

หลังจากรัฐบาล “คลายล็อกเฟส 3” ที่มีมาตรการผ่อนคลายหลายกิจกรรม/กิจการ จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และ 2 ทั้งให้เปิดร้านเสริมสวยแต่งผม ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด ร้านอาหาร ก็ทำให้ลดความตึงเครียดลงได้

ส่วนเฟสที่ 3 มีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นทั้ง โรงหนัง, ฟิตเนส, นวดแผนไทย, สปา, สนามกีฬาเพื่อออกกำลังกายต่างๆ

ก็ยิ่งลดความตึงเครียดลงไปอีก เมื่อประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลายขึ้น กิจการห้างร้านต่างๆ ได้กลับมาเปิดทำการ ดำเนินธุรกิจต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการคลายล็อก แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงไม่หมดไป ประชาชนต้องดำเนินชีวิตชนิดที่เรียกว่า “การ์ดไม่ตก”

Advertisement

ส่งผลให้วิถีชีวิตได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นวิถี “นิว นอร์มอล” หรือ “ฐานวิถีชีวิตแบบใหม่” ที่ทุกคนต้องปฏิบัติเพื่อให้ “อยู่รอด” ในยุคโควิด-19

 

ปัจจัยที่ 7-8-9

Advertisement

ก่อนจะมีโควิด-19 ปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ยุค 5G นอกจากมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ยังต้องมีโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต แต่โควิดก็ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก ต่อไปนี้เวลาออกจากบ้านสิ่งที่เพิ่มเข้ามาในวิถีคือ “ต้องสวมใส่หน้ากาก พร้อมพกสเปรย์และเจลแอลกอฮอล์” กลายเป็นปัจจัยที่ 7-8-9 ที่ขาดไม่ได้อีกแล้ว

 

เว้นระยะห่างทางสังคม

นอกจากสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อออกจากบ้านแล้ว “โซเชียล ดิสเทนซิ่ง” หรือ “เว้นระยะห่างทางสังคม” ก็กลายเป็นอีก “มารยาททางสังคมใหม่” ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ทั้งการยืนต่อคิว, การพูดคุย, การทำงาน, การรับประทานอาหาร, ขึ้นลิฟต์จำกัดจำนวนคน, ขึ้นบันไดเลื่อนต้องยืนห่างกัน 2 ขั้น, นั่งรถเมล์ต้องนั่งห่างกัน 1 เก้าอี้ หรือแม้แต่ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือใต้ดิน ก็ต้องยืนห่างกัน นั่งห่างกัน

ส่วนตามสถานที่ต่างๆ ก่อนเข้าสถานที่นั้นจะมีการ “ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย” ก่อน ถ้าไม่เกิน 37.5 องศา ก็สามารถเข้าไปในสถานที่นั้นๆ ได้ และถ้ามีการติดต่อสื่อสารกัน ก็จะมี “ฉากกั้นพลาสติกใส” มากั้นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

กลายเป็นภาพที่เห็นจนชินตา ทั้งในร้านอาหารที่นั่งตรงข้ามกัน การติดต่อราชการต่างๆ การซื้อขายสินค้า รวมไปถึงการถวายภัตตาหารพระสงฆ์ ที่บางวัดนำฉากใสมากั้นระหว่างพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไว้ด้วย

เว้นระยะห่างทางสังคม

 

สแกนคิวอาร์โค้ด

อีกสิ่งที่ทำกันจนเป็นเรื่องปกติคือ ก่อนเข้าห้างร้านต่างๆ ต้องนำโทรศัพท์ “สแกนคิวอาร์โค้ด” เพื่อ “เช็กอิน” ซึ่งเป็นการลงทะเบียนในระบบ “ไทยชนะ” ระบบลงทะเบียนของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แคมเปญของกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกแบบมาเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานพื้นที่ชุมชน เพื่อใช้ระบบวิเคราะห์ผลจัดการข้อมูลผู้ใช้บริการพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหากไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถเข้าไปกรอกชื่อ นามสกุล เบอร์โทร ให้เจ้าหน้าที่ออกคิวอาร์โค้ดให้เพื่อเช็กอินเข้าพื้นที่ได้

และเมื่อเดินทางออกจากห้างหรือร้านนั้นๆ ก็ต้องสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อ “เช็กเอาต์” และทำแบบประเมินความพึงพอใจต่อมาตรการการป้องกันของห้าง หรือจะไม่ทำแบบการประเมินก็ได้

 

มาตรการป้องกันโควิด

ในส่วน “มาตรการป้องกันโควิด-19” ของห้าง/ร้าน หรือสถานที่ต่างๆ เรียกว่ามีทั้งนวัตกรรมทันสมัย และครอบคลุมในหลายด้าน เช่น ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน หลังจากสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าห้างแล้ว นักช้อปจะต้องผ่านเครื่องสแกนวัดอุณหภูมิร่างกายแบบอัตโนมัติ และเหยียบสะพานทางเดินพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ มีจุดบริการเจลล้างมือทั่วห้าง พร้อมบริการเครื่องฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV-C ฟรี มีนวัตกรรมหุ่นยนต์ตรวจความปลอดภัยอัจฉริยะที่สามารถแจ้งเตือนเมื่อพบผู้ไม่สวมใส่หน้ากาก รวมถึงตรวจวัดอุณหภูมิผู้ที่เดินผ่าน และแจ้งเตือนเมื่อมีผู้มีอุณหภูมิสูงเข้ามาในพื้นที่

ขณะที่ร้านค้าต่างๆ ในห้างก็มีการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการตามขนาดพื้นที่ของร้านเพื่อลดความแออัด รวมไปถึงพนักงานก็ต้องสวมใส่เฟซชิลด์ สวมหน้ากาก และสวมถุงมือ

สแกนคิวอาร์โค้ดเข้าห้าง

 

ปรับตัวสู้โควิด

กิตติมาพร (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี น.ศ.ปี 4 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินทางมาใช้บริการศูนย์การค้าสยามพารากอน พร้อมกับเพื่อน เผยว่า ก่อนที่จะมีโควิดระบาดเดินห้างค่อนข้างบ่อย แต่พอมีโควิดห้างปิด ก็เริ่มที่จะชินและรู้สึกชอบบรรยากาศกรุงเทพฯในแบบที่เงียบๆ มากกว่า หลังจากมีการผ่อนปรนเป็นครั้งแรกที่มาเดินห้าง สิ่งแรกที่ทำคือนัดเจอกับเพื่อนๆ ซึ่งก็มีการเตรียมตัวเพื่อป้องกันตัวเองโดยสวมหน้ากากผ้า พกเจลล้างมือ และขับรถมาเองแทนการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งยังมองว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะกลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ ที่คนในสังคมจะปฏิบัติในห้วงเวลาต่อจากนี้

ปฏิมาพร ชนินชินเกษม อายุ 38 ปี เดินทางจากฝั่งธนบุรีมาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์พร้อมลูกชาย เล่าว่า ปกติเธอและครอบครัวมาใช้บริการศูนย์การค้าต่างๆ บ่อยมาก โดยกิจกรรมหลักๆ คือมารับประทานอาหาร ประมาณ 3-4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งหลังจากที่มีโควิดต้องอยู่บ้านรู้สึกคิดถึงบรรยากาศการเดินห้างมาก โดยวางแผนไว้ว่าหากห้างเปิดจะมา “ทานชาบู” เป็นอันดับแรก แต่ด้วยมาตรการเว้นระยะห่าง ต้องนั่งแยกโต๊ะกับลูก ทำให้ดูแลลูกเวลาทานไม่ได้เลยตัดสินใจยังไม่ทาน

“ก็คงจะไม่มาห้างแล้วในช่วงที่ยังเปิดไม่เต็มรูปแบบ เพราะว่าปกติเรามาห้างก็มาทานอาหาร เวลาที่อยู่ในร้านก็ต้องถอดแมสก์อยู่ดี ก็เลยคิดว่ารอให้โควิดคลี่คลายแล้วค่อยมาอีกทีดีกว่า” ปฏิมาพรกล่าว

ทั้งนี้ นอกจากสวมหน้ากาก พกเจลล้างมือ และขับรถมาห้างเองแล้ว ปฏิมาพรย้ำว่า สิ่งสำคัญของการออกนอกบ้านคือต้องเข้มงวดกับการดูแลป้องกันตัวเอง และเลี่ยงพื้นที่คนเยอะ โดยในตอนนี้ช่วงแรกที่เปิดห้าง คนยังมาเดินไม่เยอะ แต่ต่อไปสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น นิว นอร์มอล ที่คนจะให้ความสำคัญเวลาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น

 

ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน

พรรณผกา ใบศรี หรือเตย ฟรีแลนซ์กองถ่ายโฆษณาวัย 29 ปี ที่มาใช้บริการภายในห้าง เผยว่า โควิดทำให้วิถีชีวิตหลายอย่างของเธอเปลี่ยนไป ทำให้งานของเราต้องหยุดไป ด้วยทำงานกองถ่ายก็รวมกลุ่มกันไม่ได้ ก็ต้องอยู่บ้าน หัดทำกับข้าว ทำสวน ดูแลพ่อแม่ไป จากได้ออกไปซื้อของต่างๆ ก็เปลี่ยนมาสั่งออนไลน์ เวลาที่ออกไปข้างนอก ได้รับบัตรจอดรถก็ต้องฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ก่อน พกแมสก์ เจลล้างมือ สเปรย์แอลกอฮอล์ และถุงซิปล็อกไว้ทิ้งแมสก์ ค่อยๆ ปรับตัวได้ไม่เครียดมาก กลับถึงบ้านก็จะอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนมาเล่นกับหลานเพราะมีเด็กเล็ก หากสั่งของมาก็จะใช้แอลกอฮอล์ฉีดก่อน รองเท้าก็ตากแดดไว้ และยังไม่ไปนั่งกินอาหารนอกบ้าน ซึ่งหากได้กลับไปทำงานก็คงต้องดูแลตัวเองแบบนี้ไป เรียกว่าไม่เครียดแต่ต้องปรับตัว

“โควิด นอกจากจะทำให้วิถีชีวิตต่างๆ ของเราเปลี่ยนไปแล้ว โรคคงจะอยู่กับเราอีกหลายปี เราต้องปรับตัวอยู่กับมันให้ได้ ดูแลสุขภาพของตัวเองและคนรอบตัว สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ เรากลายเป็นคนไม่ขวนขวาย จากต้องเดินห้างบ่อยๆ ตอนนี้ก็ไม่ได้อยากได้ ไม่ได้อยากซื้อ ไม่อยากไปไหนมาก รู้สึกชีวิตธรรมดามากขึ้น” พรรณผกาบอก

ขณะที่ กนกวรรณ นกน้อย พนักงานโรงแรมวัย 39 ปี เผยว่า หากพูดถึงนิว นอร์มอล ในชีวิตหลังโควิดแล้วนั้น นอกจากจะต้องดูแลสุขภาพต่างๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแน่นอนคือ ไลฟ์สไตล์ โดยในด้านการทำงานของเรา ปกติจะชอบทำงานตอนกลางคืน เพราะว่าเงียบ เหมาะ แต่ว่าหลังๆ ก็ต้องรีบทำรีบกลับบ้าน และด้วยพ่อแม่มีอายุมากก็ทำให้คิดตลอดว่าเราควรกลับบ้านไหม หรืออยู่คอนโด กลัวจะนำเชื้อโรคต่างๆ ไปติดเขา และอย่างเสาร์ อาทิตย์ แต่ก่อนต้องกินข้าวนอกบ้านทุกวัน ก็เปลี่ยนมาหัดทำอาหารกินเอง และซื้ออุปกรณ์อย่างหม้อทอดไร้น้ำมัน หม้อชาบู มาทำอาหารที่บ้าน เพราะให้สั่งกินตลอดก็คงไม่ไหว

“สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือเรื่องการเดินทาง ปกติทุกปีครอบครัวจะมีทริปต่างประเทศหนึ่งครั้ง ก่อนจะมีโควิดเพิ่งทำวีซ่าไปอิตาลี ก็ไม่ได้เงินคืนหลายพันบาท ทริปก็ต้องล่มไป ดีที่ขอเงินคืนได้บางอย่างไม่เจ็บตัวมากนัก ซึ่งปกติที่บ้านจะชอบเที่ยวมาก ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นวันเดย์ทริป ทำข้าวกล่อง ชวนลูกๆ ขึ้นรถ ขับไปเที่ยวที่ใกล้ๆ ไม่ลงจากรถ ซื้ออาหารแบบไดรฟ์ทรู เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศกรุงเทพฯให้หายเครียดไป อย่างไรก็ต้องปรับตัวใช้ชีวิตกับมัน” กนกวรรณทิ้งท้าย

ปรับเพื่ออยู่รอด

กิตติมาพร
กนกวรรณ
ปฏิมาพร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image