“จ๊อบส์ ดีบี” ชี้สัญญาณดีมานด์แรงงานเดือน พ.ค. ฟื้น รับคลายล็อคเฟส 3 อาชีพไอที-ขาย มีความต้องการสูงรับนิว นอร์มอล-ดิจิทัล

กรุงเทพฯ 2 มิถุนายน 2563 – จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เผยภาพรวมความต้องการงานทั่วประเทศไทย 3 เดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 แม้จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนส่งผลกระทบในหลายภาคส่วนจนทำให้เกิดอัตราคนว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในวิกฤตดังกล่าวพบว่ามีภาคธุรกิจที่ยังคงมีความต้องการแรงงาน ขณะที่ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรคนไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2563 มีจำนวนคนว่างงานกว่า 3.92 แสนคน (ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบในหลายภาคส่วนทำให้เกิดอัตราคนว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีการคาดการณ์จากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย (กกร.) ว่ามีพนักงาน 7 ล้านคนที่จะออกจากงานภายในเดือนมิถุนายน เนื่องจากการปิดตัวลงของภาคธุรกิจและส่งผลกระทบต่อคนทำงานที่มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

นางสาวพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยภาคคนหางานและภาคธุรกิจให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง จ๊อบส์ ดีบี ได้เปิดตัวโครงการ “ทูเก็ตเทอร์อเฮด” (#TogetherAhead) ช่วยเหลือผู้หางานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยผู้ประกอบการสามารถลงประกาศงานฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ล่าสุดได้รับความสนใจจากองค์กรและผู้ประกอบการชั้นนำเข้าร่วมกว่า 600 บริษัท มีประกาศงานที่เปิดรับกว่า 1,500 อัตรา และมีใบสมัครเข้ามาในระบบแล้วมากกว่า 30,000 ใบสมัคร ซึ่งองค์กรหรือผู้ประกอบการที่สนใจสามารถรับขอสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://th.jobsdb.com/togetherahead

Advertisement

นางสาวพรลัดดา กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจรวมถึงธุรกิจเกือบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งองค์กร ผู้ประกอบการ ตลอดจนฝั่งคนหางาน แต่ในวิกฤตดังกล่าวก็ยังพบว่ามีธุรกิจหลายประเภทที่ยังมีความต้องการแรงงาน เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถข้ามผ่านสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ ด้วยเหตุนี้ จ๊อบส์ ดีบี จึงได้เผยภาพรวมความต้องการคนทำงานทั่วประเทศไทยช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 พบข้อมูลดังนี้

5 ธุรกิจที่ยังมีความต้องการคนทำงาน ได้แก่ ธุรกิจไอที (Information Technology) ธุรกิจการผลิต (Manufacturing) ธุรกิจขายส่ง ธุรกิจขายปลีก (Wholesale / Retail) ธุรกิจบริการด้านการเงิน (Financial Services) และธุรกิจ Trading ธุรกิจจัดจำหน่าย (Trading and Distribution)

5 สายอาชีพที่ยังคงมีความต้องการคนทำงาน ได้แก่ งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ (Sales, CS & Business Devpt) งานไอที (Information Technology) งานวิศวกรรม (Engineering) งานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ (Marketing / Public Relations) และงานธุรการ งานทรัพยากรบุคคล (Admin & HR)

Advertisement

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจและสายงานไอทีเป็นกลุ่มที่มีความต้องการคนทำงานสูง เนื่องจากหลายองค์กรมีการปรับตัวรับ New Normal รวมถึงการทำงานให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่าย มีการเตรียมความพร้อมรับคนกลับมาทำงานหลังภาพรวมต่าง ๆ เริ่มส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น

ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่ามีตัวเลขความต้องการแรงงาน เริ่มฟื้นตัวกลับมา แบ่งตามกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจโลจิสติกส์ (Logistic) เพิ่มขึ้น 23% 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property Development) เพิ่มขึ้น 13% 3. ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจการตลาด ธุรกิจประชาสัมพันธ์ (Advertising/Public Relations/Marketing Services) เพิ่มขึ้น 6% 4. ธุรกิจประกันภัย (Insurance/Pension Funding) เพิ่มขึ้น 5% และ5. ธุรกิจขายส่ง ธุรกิจขายปลีก (Wholesale/Retail) เพิ่มขึ้น 2%

นางสาวพรลัดดา กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าการเติบโตของของภาคธุรกิจเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ที่มีการเติบโตจากการขนส่งสินค้าออนไลน์ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการสั่งอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น ส่วนธุรกิจประกันภัยมีการเติบโตเนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับประกันสุขภาพมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงธุรกิจขายส่ง ธุรกิจขายปลีก ที่มีแน้วโน้มเติบโตตามเทคโนโลยีดิจิทัล

ในขณะที่ 5 กลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนประกาศงานลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว (Tourism/Travel Agency) ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจบริการ ธุรกิจจัดเลี้ยง (Hospitality/Catering) ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจสถาปัตยกรรม (Architecture/Building/Construction) ธุรกิจยานยนต์ (Motor Vehicles) ธุรกิจวิศวกรรมก่อสร้าง-ธุรกิจวิศวกรรมโยธา-ควบคุมอาคาร (Engineering – Building, Civil, Construction/Quantity Survey)

นางสาวพรลัดดา กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมของฝั่งคนหางาน พบว่าในเดือนพฤษภาคมผู้สมัครงานมีจำนวนการสมัครงานเพิ่มขึ้น คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ทั้งจากคนทำงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ รวมถึงผู้สมัครงานบางส่วนเริ่มมีความเชื่อมั่นในสถานการณ์และมองหาโอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งพิจารณาจากใบสมัครเติบโตสูง พบว่า 1.ธุรกิจ Trading ธุรกิจจัดจำหน่าย (Trading and Distribution) เพิ่มขึ้น 32% 2.ธุรกิจสารเคมี พลาสติกกระดาษ ปิโตรเคมี (Chemical / Plastic / Paper / Petrochemical) เพิ่มขึ้นสูงถึง 13% 3.ธุรกิจไอที (Information Technology) เพิ่มขึ้น 10% และ 4.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจจัดเลี้ยง (Food and Beverage / Catering) เพิ่มขึ้น 2%

และในช่วงเวลาเดียวกันยังแสดงให้เห็นถึง 5 กลุ่มสายงานเป็นที่ต้องการของผู้สมัครงานสูงคือ 1.อีคอมเมิร์ซ (E-commerc) เพิ่มขึ้น 75% 2.งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ (Sales, CS & Business Development) เพิ่มขึ้น 3% 3.งานบัญชี (Accounting) เพิ่มขึ้น 3% 4.งานไอที (IT) เพิ่มขึ้น 3% 5.งานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ (Marketing / Public Relations) เพิ่มขึ้น 2% ตามลำดับ ซึ่งการแข่งขันเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในการจ้างงาน ให้สามารถเลือกคนทำงานได้ตรงตามเป้าหมาย โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องการก้าวสู่ดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซในอนาคตต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image