ฌาปนกิจ ‘เรืองรอง รุ่งรัศมี’ วงการหนังสืออาลัยแน่น ยกย่องหนุนงานเขียนฝ่าย ปชต. เผยจากไปอย่างทรนง

เผาร่าง ‘เรืองรอง รุ่งรัศมี’ วงการหนังสืออาลัยแน่น ยกย่องหนุนงานเขียนฝ่าย ปชต. เผยจากไปอย่างทรนง

เมื่อเวลา 15.30น. วันที่ 2 มิถุนายน ที่ศาลา 9 วัดหัวลำโพง กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศงานบำเพ็ญกุศล และฌาปนกิจศพนายรุ่งโรจน์ กำจรจรุงวิทย์ หรือ ‘เรืองรอง รุ่งรัศมี’ นักเขียน นักแปลชื่อดัง ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมจีน ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาจากโรคประจำตัวที่บ้านพักย่านประชาอุทิศ โดยมีคนในแวดวงหนังสือร่วมอาลัยเป็นวันสุดท้าย

นายธีระพล อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่าตนเดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งใจเดินทางมาร่วมงานฌาปนกิจนายรุ่งโรจน์โดยเฉพาะ เนื่องจากมีความคุ้นเคยกันตั้งแต่ช่วงหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 นายรุ่งโรจน์รังเกียจเผด็จการ ยืนข้างคนถูกเอารัดเอาเปรียบ ให้คำแนะนำตนเสมอ โดยเน้นย้ำให้ส่งเสริมงานเขียนฝ่ายประชาธิปไตย อย่าเผลอไปอยู่ข้างคนที่กดขี่ผู้อื่น สนับสนุนให้ตนออกเดินทางเพื่อสัมผัสชีวิต ให้คนรุ่นใหม่ก้าวข้ามพรมแดนด้วยการเดินเท้าทางบก แทนที่จะขึ้นเครื่องบิน เพื่อให้ทำความรู้จักผู้คน และเรียนรู้เรื่องราวนอกตำราจากภาครัฐ

“ผลงานที่ประทับใจที่สุด คือ ธุลีดาวของยุคสมัย ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ความทรงจำของคนเข้าป่าที่ไม่ได้บอกว่าพวกเขาคือฮีโร่ แต่เป็นผู้ถูกกระทำ อ่านแล้วสามารถน้ำตาไหลกับเรื่องเล่าซึ่งเป็นการทำงานแบบนักเขียนสารคดีที่นำข้อเท็จจริงมาเขียน” นายธีระพล

นายวรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนชื่อดัง กล่าวว่า ตนเดินทางมาจากจังหวัดน่านตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น. ถึงวัดหัวลำโพงเวลา 14.30 น. ตั้งใจเดินทางมาร่วมงานเนื่องจากนายรุ่งโรจน์เป็นครูคนแรกของการสอนให้ตนทำพ็อกเกตบุ๊กส์ สิ่งที่นายรุ่งโรจน์ทิ้งไว้แก่สังคมไทยคือการทำงานหนัก เป็นนักเขียนที่สดุดีเหงื่อ ในขณะเดียวกันก็เสพสุนทรียะอย่างไม่เอาเปรียบคนอื่น ก้าวพ้นจากการครอบงำของทุกสิ่ง รวมถึงความเป็นไทย สู่ความเป็นสากล

Advertisement

นายศักดิ์ดา ถวัลวรกิจ เจ้าของร้านบุหลันดั้นเมฆ กล่าวว่ารู้จักนายรุ่งโรจน์เป็นการส่วนตัวหลังจากติดตามเพื่อนนักเขียนไปที่บ้านเมื่อราว 20 ปีก่อน หลังจากจากนั้นจึงติดตามอ่านผลงานตลอดมา ที่ประทับใจที่สุดคือ ‘เดียวดายใต้เงาจันทร์ โกวเล้งรำพัน’ อย่างไรก็ตาม เรื่องผลงานไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่การพูดคุยกับนายรุ่งโรจน์ ทำให้ตนได้เรียนรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจริงจังต่อชีวิต การออกเดินทาง การมองเห็นถึงโอกาส รวมถึงความรู้ต่างๆ ทั้งชา อาหาร ภาษาจีน และเรื่องไต้หวันจากการที่นายรุ่งโรจน์ได้ไปศึกษามา อีกทั้งแนวคิดด้านประชาธิปไตย

Advertisement

“เพิ่งได้คุยกัน 3 วันก่อนเสียชีวิต ตอนนั้นจำได้ว่าคุยกันราวครึ่งชั่วโมง ใจความหลักคือเรื่องอาหารที่อยากผูกปิ่นโตและร่วมทำบุญช่วยเหลือกรณีโควิด แต่ผมปฏิเสธไปเพราะได้ทุนเยอะแล้ว พี่เรืองรองรู้ตัวตลอดมาว่าสุขภาพไม่ดี ยังเคยบอกผมก่อนเสียชีวิตว่าจะไม่ไหวแล้ว กินข้าวไม่ได้ เป็นคนที่เตรียมตัวเรื่อวความตายมาตลอด และเป็นห่วงคนรุ่นหลังเสมอ” นายศักดิ์ดา กล่าว

ต่อมา เวลา 16.00 น. พระสงฆ์ทำพิธีเคลื่อนร่างนายรุ่งโรจน์จากศาลา 9 สู่เมรุเพื่อเตรียมการฌาปนกิจโดยมีครอบครัว ญาติ และคนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมร่วม เดินวน 3 รอบ จากนั้น นายประยุทธ ชวลิตกิจเจริญ หลานชาย กล่าวคำไว้อาลัย มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ผลงานตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ในสำนวนภาษาที่ยอดเยี่ยมราวกับจอมยุทธจากการแตกฉานในภาษาจีน โดยเรียกตัวเองว่า ‘ชิวคนโง่’

“อาเรืองรองเตรียมความพร้อมนานแล้ว โดยเมื่อป่วยหนักราว 2 ปีก่อนได้แสดงความปรารถนาอย่างแน่วแน่ที่จะจากไปอย่างไร้ร่องรอย เฉกเช่นจอมยุทธพเนจร เหลือไว้เพียงตำนานเล่าขาน โดยยืนหยัดจากไปอย่างทรนงในบ้านของตัวเอง” นายประยุทธกล่าว

จากนั้น นายเรวัต ก่อรัตนคุณ ถั่ว วงโมโนโทน หลานชายร้องเพลงไว้อาลัย เป็นเพลงที่แต่งขึ้นโดยเฉพาะ มีเนื้อหาระบุว่าสักวันหนึ่งอาจได้พบกันอีกครั้ง แม้วันนี้ถึงเวลาต้องบอกลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานดังกล่าวมีบุคคลในวงการหนังสือและศิลปะเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ นายปรีดา ข้าวบ่อ บก.นิตยสารทางอีศาน, นายสมศักดิ์ วงศ์รัฐปัญญา หรือ สนานจิตต์ บางสพาน นักวิจารณ์ และผู้กำกับภาพยนตร์, นายสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นักข่าวอาวุโส, นายพลาดิศัย สิทธิธัญญกิจ คอลัมนิสต์อาวุโส, นายจรัญ หอมเทียนทอง อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือ

นายถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะ, นายชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต หรือ มหาสุรารินทร์ กวี, นายกิตติพล สรัคคานนท์ บก.สำนักพิมพ์ 1001 ราตรี , นายกฤช เหลือลมัย คอลัมนิสต์, นางวีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์, นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ , นายอนุสรณ์ ติปปยานนท์ นักเขียน และนายอาจินโจนาทาน อาจิณกิจ ศิลปินร่วมสมัย เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image