อ.รัฐศาสตร์ มธ. เจาะปม ‘พปชร.’ เปลี่ยนขั้วอำนาจ เชื่อปรับ ครม. กระทบภาพลักษณ์ รบ.

อ.รัฐศาสตร์ มธ. เจาะปม ‘พปชร.’ เปลี่ยนขั้วอำนาจ เชื่อปรับ ครม. กระทบภาพลักษณ์ รบ.

พลังประชารัฐ – เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปมร้าวของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน พปชร.หลายครั้ง ก่อนหน้านี้มีความพยายามในการเปลี่ยนเลขาธิการพรรค จนตอนนี้เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเมื่อก่อนจะใช้วิธีประชุมพรรคแล้วจึงมีการเปลี่ยนแปลง แต่หนนี้ใช้กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เปลี่ยนแปลง เป็นการเดินเกมอีกรูปแบบ

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์กล่าวว่า พปชร.ประกอบด้วยกลุ่มมุ้งต่างๆ ที่มาอยู่รวมกัน การต่อรองอำนาจ หรือการจัดการการเมืองภายในพรรคจึงเกิดขึ้นไม่เฉพาะภายในพรรค แต่ยังเกิดขึ้นในกลุ่มมุ้งการเมืองซึ่งมีอำนาจต่อรองเนื่องจากเป็น ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล ทุกคนย่อมอยากเป็นรัฐมนตรี แต่หากมองให้ลึกกว่านั้นที่ว่าจะปฏิรูป พปชร.แสดงให้เห็นแล้วจากปรากฏการณ์นี้ว่า การต่อรองอำนาจของกลุ่มมุ้งการเมืองนั้นกลับกลายเป็นการเมืองแบบเก่า กลับไปสู่การเป็นพรรคการเมืองชั่วคราว เพราะการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง กก.บห.พรรค ไม่ได้เกิดจากการหมดวาระ แต่เป็นการเปลี่ยนจากการต่อรองอำนาจทางการเมือง ที่สำคัญผู้ที่จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.คนใหม่ อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือสัญลักษณ์ของอะไรหรือไม่ เพราะในขณะเดียวกันสังคมมองปัญหาที่เกิดขึ้นใน พปชร.อีกแบบหนึ่ง

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์กล่าวว่า กก.บห.ชุดใหม่ที่จะเข้ามา ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของการต่อรองขั้วอำนาจ และขุมอำนาจทางการเมืองภายในพรรค จะเห็นว่าถึงที่สุดแล้ว หากต้องการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งบริหารในพรรคใช้ได้ด้วยวิธีการลาออก หรือเข้า กก.บห. ดังนั้น หากกรรมการบริหารชุดใหม่เข้ามา จะเป็น กก.บห.ตัวแทนของขุมกำลังในพรรคที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

Advertisement

“ต้องบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค หรือเกี่ยวข้องกับ พปชร.โดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ด้วยความที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ดังนั้น หากจะเปลี่ยน ครม.เรื่องต้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ เท่ากับว่าพรรคส่งสัญญาณอะไรถึงนายกฯหรือไม่ ในเมื่อหัวหน้าพรรคอย่างคุณอุตตม สาวนายน และคุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ไม่ได้มีตำแหน่งบริหารแล้ว” ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่า ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์กล่าวว่า ใน ครม.มีโควต้ารัฐมนตรีของแต่ละพรรค ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่เกี่ยวกับตน แต่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงใน พปชร.คือการส่งสัญญาณถึงการปรับ ครม.ด้วย คำถามคือนายกฯจะอยู่บนตำแหน่งนี้โดยที่ไม่สนใจได้มากน้อยแค่ไหน นี่คือการส่งสัญญาณไปถึงนายกรัฐมนตรีว่าจะต้องลงมาดู ถึงแม้นายกฯจะพูดก่อนหน้านี้ว่า ถ้าจะเปลี่ยนอะไรขึ้นอยู่กับตน ตนไม่เปลี่ยน แต่หากพรรคขยับเช่นนี้ นายกฯจะเป็นอย่างไร คำตอบอยู่ที่นายกฯว่าจะปรับ ครม.ตามนี้หรือไม่ และเหตุผลของการปรับ ครม.คืออะไร

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์กล่าวต่อว่า ความจริงแล้วหากดูตามอายุของรัฐบาล ในประวัติศาสตร์ 1 ปีจะมีช่วงที่สามารถเปลี่ยน กก.บห.ได้ด้วยสาเหตุหลายประการ หลายครั้งรัฐบาลก็เปลี่ยนเพราะถึงคราวที่จะต้องให้คนอื่นมาเป็นรัฐมนตรีบ้าง เพื่อจัดการปัญหาการเมืองภายในพรรค ซึ่งก่อนหน้านี้ก็คาดการณ์กันว่าจะมีการปรับ ครม. มีการขย่มกันในพรรคมาหนหนึ่งแล้ว แต่ด้วยโควิดเข้ามาทำให้เวลาของการปรับ ครม.ครั้งนั้นถูกยืดออกไป เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น จึงต้องมองถึงอนาคตหลังจากนี้ในเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การปรับ ครม.ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ไปด้วยกันได้ แต่เหตุผลในการปรับเปลี่ยน ครม.ครั้งนี้ เป็นไปเพื่อความเหมาะสม หรือเพื่อการเมือง ซึ่งทุกคนต่างบอกว่าเพื่อความเหมาะสม แต่สิ่งที่ประชาชนมองคือเพื่อการเมืองทั้งนั้น

Advertisement

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์กล่าวว่า ประการต่อมา หากจะมีการปรับ ครม.จะปรับแค่ใน พปชร.หรือไม่ หรือจะไปเกี่ยวข้องกับพรรคอื่นด้วย พรรคที่ได้คะแนนเสียง ส.ส.เพิ่ม จะขอโควต้ารัฐมนตรีเพิ่มหรือไม่ แม้บางพรรคจะบอกว่าทุกอย่างเป็นเหมือนเดิม แต่การพูดกับการกระทำเป็นคนละเรื่อง นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้ทางการเมืองมาโดยตลอด

“สำหรับอนาคตทางการเมือง ต้องยอมรับว่าเรามีคณะรัฐมนตรีแบบรัฐบาลผสม รัฐบาลมี 270 กว่าเสียง ฝ่ายค้านมี 210 เสียง ดังนั้น เกมการเมืองในสภาอาจจะไม่มีปัญหา เพราะต้องยอมรับว่าพรรครัฐบาลอย่างไรก็คงไม่อยากเป็นฝ่ายค้าน ขณะเดียวกันเมื่อเป็น ครม.แล้ว การปรับ ครม.ครั้งนี้จะก่อให้เกิดความพอใจของทุกกลุ่มก้อนในพรรคต่างๆ หรือไม่ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การปรับ ครม.ครั้งนี้จะเป็นที่ยอมรับต่อสายตาประชาชนมากน้อยเพียงใด ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันคนมองภาพของรัฐบาลแบบหนึ่ง หากปรับ ครม.แล้วภาพไม่ไปกับความหวังของประชาชน การปรับ ครม.ก็อาจจะแก้ปัญหาทางการเมืองได้ แต่แก้ภาพลักษณ์ต่อประชาชนไม่ได้

“ถามว่าปรับ ครม.แล้ว พรรคฝั่งรัฐบาลจะมีปัญหาหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า ยากมาก หากมองอย่างตื้นๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทยจะมาป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ กล่าวคือไม่มีพรรคสำรองที่จะขยับเข้าหรือออก พรรคร่วมรัฐบาลจึงต้องจัดการให้อยู่ เพียงแต่จับกันแล้วมีปัญหาอะไรในพรรคก็ไปเคลียร์กันเองให้ได้

“อย่างไรก็ดี หาก พปชร.เคลียร์ตำแหน่ง ครม.ของตนเองแล้ว ‘อยู่ได้’ แต่ภาพลักษณ์ของประชาชนไม่ออกมา จะเป็นอย่างไร ดังนั้น สิ่งที่ต้องมองคือภาพหลังปรับ ครม. เพราะกว่าจะเห็นผลงานต้องใช้เวลานาน ที่สำคัญเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทคือเม็ดเงินมหาศาลในประเทศ หากนักการเมืองที่มีประวัติมาบริหาร จะเกิดคำถามว่า กลุ่มคนเหล่านี้หรือที่จะมาบริหารเงินก้อนนี้ที่เราจะต้องใช้พัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด แล้วจะไปได้หรือไม่ ภาพลักษณ์คือภาระที่รัฐบาลต้องมอง แล้วภาพนั้นจะกระทบกับนายกฯ หรือไม่ ต้องมองส่วนนี้ด้วยเช่นกัน”  ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image