‘พระราชินี’ น้ำพระราชหฤทัย ห่วงใยประชาราษฎร์

‘พระราชินี’ น้ำพระราชหฤทัย ห่วงใยประชาราษฎร์

นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ “สมเด็จพระราชินีสุทิดา” ขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี” เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

และดั่งพระราชดำรัสที่พระองค์ทรงมีรับสั่งเมื่อครั้งเสด็จฯ ประกอบพระราชกรณียกิจแรกในวันสตรีไทย ประจำปี 2562 ว่า

Advertisement

“ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณพระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ขอให้ทุกท่าน ณ ที่นี้ โปรดร่วมมือร่วมใจและเป็นกำลังร่วมกับข้าพเจ้าในการเผยแผ่สายธารแห่งพระบารมี สู่การพัฒนาสตรีที่ยั่งยืน เหมือนดังที่ท่านได้ตั้งแนวความคิดของการจัดงานในปีนี้”

“คำสัตย์ปฏิญาณที่ทุกท่านได้กล่าวนั้น ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้ง และแอบกล่าวตามในใจอยู่ในที ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นสตรีไทยคนหนึ่ง บทบาทหน้าที่สำคัญที่สตรีไทยมีต่อสถาบันครอบครัว ตลอดจนการถ่ายทอด สั่งสอนการเป็นสตรีไทยที่ดีไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานนั้น นับเป็นรากฐานสำคัญสำหรับความมั่นคงของครอบครัว และจะนำพาไปสู่ความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติต่อไป”

Advertisement

 

‘พระราชจริยวัตรอ่อนน้อม’
กุมหัวใจปวงประชา

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ใน “พระราชจริยวัตรอ่อนน้อม” ที่ทรงมีต่อพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ทรงประทับลงบนพื้นและทรงกราบ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี, พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ที่เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ พระบรมวงศ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และทรงปฏิบัติเฉกเช่นนี้ทุกครั้ง เมื่อทรงพบพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในวาระโอกาสงานพระราชพิธีต่างๆ

พระราชจริยวัตรยิ่งจับใจ เมื่อทรงรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และทรงไหว้พระสันตะปาปาขณะส่งเสด็จกลับอย่างงดงาม ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

รวมถึงครั้งที่ทรงคุกพระชงค์ (เข่า) ลงบนพื้นเพื่อทักทาย นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

นับเป็นพระราชจริยวัตรที่กุมหัวใจพสกนิกรชาวไทย

อัจฉริยภาพด้านทหาร

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2563 กระทรวงกลาโหม จัดโครงการสัมมนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี โดยมี พ.อ.วันชนะ สวัสดี วิทยากรจิตอาสา 904 กล่าวในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “พระราชกรณียกิจ ด้านทหาร และโครงการจิตอาสาพระราชทาน” ว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติหน้าที่ราชองครักษ์อย่างมุ่งมั่นในการถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตั้งมั่นในการถวายรักษาความปลอดภัย ผ่านการฝึกฝนทางทหาร มีความเข้มแข็ง อดทน และมีวินัยอย่างยิ่ง

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงทำหน้าที่ผู้บังคับกองผสมฯ ในการแสดงราชวัลลภเริงระบำ ต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้เวลาการแสดง 48-50 นาที มีทั้งหมด 3 บทของการฝึก บางบทมี 6 กลุ่มท่าบางบทมี 7 กลุ่มท่า กลุ่มท่าต่างๆ ประกอบด้วย การแทรกขบวน มีทั้งท่านั่ง ท่ายืน

ท่าเดิน ซ้ายหัน ขวาหัน รวมถึงท่าแทรกขบวนขณะเคลื่อนที่ ท่าการใช้อาวุธในการแสดงความเคารพ ท่าเคลื่อนที่ทางการทหารโดยถือปืนไปด้วย ท่าตรวจอาวุธประจำหมวด ทั้งปืนกล ปืนเล็กยาว ปืนสั้น สิ่งที่เห็นทั้งหมด พระองค์ทรงฝึกซ้อมอย่างหนักทุกวันด้วยมาตรฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“ทหารด้วยกันจะรู้ความรู้สึกของการฝึกดีว่าเป็นอย่างไร ถ้าไม่ซ้อมจริง ทำออกมาแบบนี้ไม่ได้ มีหลายคนคิดว่าพระองค์ทรงไม่ได้ฝึกจริงจัง แล้วก็ได้ประกาศ ได้วุฒิบัตร ได้เข็มมาทั้งที่ความจริงต้องฝึกหนัก และการฝึกเพื่อถวายความปลอดภัยนั้น เป็นไปตามมาตรฐานของในหลวงทั้งหมด”

พ.อ.วันชนะยังกล่าวบรรยายอีกว่า ยิ่งไปกว่านั้นช่วงที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติหน้าที่ราชองครักษ์ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีตอกหมุดและถวายธงชัยเฉลิมพล 63 ธง ภาพที่เห็นคือทรงนั่งคุกเข่าอยู่ข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระยะเวลาที่กองทหารเข้ารับธงชัยเฉลิมพลฯ เฉลี่ยหน่วยละ 1 นาที รวม 63 หน่วย เท่ากับว่าต้องนั่งอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ในแต่ละช่วงของการนั่ง จะมีการคุกเข่าสูงขึ้นมา รับธงชัยเฉลิมพลที่มีน้ำหนักพอสมควร และทรงยื่นให้ในหลวง และก็ต้องนิ่ง นี่คือความอดทน และความมุ่งมั่นของพระองค์ ในการถวายความปลอดภัย และถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สำหรับพระราชประวัติของพระองค์นั้น การพระราชทานยศทางทหารไม่ได้มีการข้ามยศหรือรวดเร็วเกินไป เริ่มต้นจากการเป็นนายทหารยุทธการ และก่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับกองพันฯ ก็ต้องไปเรียนชั้นนายร้อยฯ ชั้นนายพันฯหลักสูตร 3 เดือน ที่ศูนย์การทหารราบ จากนั้นเป็นขึ้นตามลำดับชั้นจากผู้บังคับกองพันฯ รองผู้บังคับการกรมฯ ขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมโรงเรียนทหารมหาดเล็กฯ จากนั้นเป็นฝ่ายเสนาธิการ และปี 2558 เป็นราชองครักษ์

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ได้เข้ารับการฝึกทางทหารหลายหลักสูตร หลังจากทรงเคยผ่านหลักสูตรทหารมหาดเล็กฯ มาแล้ว ก็เข้ารับการอบรมหลักสูตรการยิงปืนพก รวมถึงหลักสูตรของทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ Jungle Warfare เหมือนกับหลักสูตรจู่โจมของกองทัพบก ผสมกับหลักสูตรทหารเสือราชินี

นอกจากนั้น ยังทรงผ่านหลักสูตรกระโดดร่มของศูนย์สงครามพิเศษ ของ ทบ. การกระโดดร่มของนาวิกโยธินที่โดดร่มลงทะเล ซึ่งทรงเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้กระโดด การเทสต์ร่างกายต้องว่ายน้ำ 300 เมตร ซึ่งทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การทำหน้าที่ราชองครักษ์ในการถวายความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้น ยังทรงผ่านหลักสูตรการบินในปี 2553-2555 โดยเป็นศิษย์การบินของโรงเรียนศูนย์การบินทหารบก เป็นศิษย์การบินโรงเรียนการบินกำแพงแสน กองทัพอากาศ และสอบนักบินเครื่องบินพาณิชย์ได้ใบอนุญาตจากยุโรป

“นี่คือสมเด็จพระราชินีที่พวกเรารักจากพระอัจฉริยภาพ และพระราชอัธยาศัย ความความอ่อนน้อมที่ทรงเป็นกันเอง จากรอยแย้มพระสรวล ที่พวกเราเห็นจากข่าวพระราชสำนัก จึงไม่น่าแปลกใจที่พระองค์เป็นที่รักของปวงชนชาวไทย” พ.อ.วันชนะสรุปการบรรยาย

ทรงรับทูลเกล้าฯ ถวาย
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

สภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีมติทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยคำประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ มีใจความตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อถวายงานและแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพระราชวิริยอุตสาหะมาโดยตลอด ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และยังคงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนชาวไทย ด้วยพระปรีชาสามารถด้านต่างๆ อาทิ หลักสูตรการบินของหน่วยฝึกการบินพลเรือนกองทัพอากาศ หลักสูตรการบินทหารบกอากาศยาน ปีกติดลำตัว ชั้นมัธยม ของโรงเรียนการบินทหารบก หลักสูตรการบินของโรงเรียนการบินกองทัพอากาศ ทรงมีความสามารถผ่านการทดสอบและได้รับใบอนุญาตนักบินของสหภาพยุโรป โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้แก่ ใบอนุญาตนักบินส่วนบุคคล PPL(A) ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี และใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก ทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ทรงพระปรีชาสามารถ

ด้านการบินบินกับเครื่องบินแบบ Cessna T แบบ Cessna T 41 แบบ CT-4E และแบบ PC-9 ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันทรงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนักบินผู้ช่วยทำการบินกับเครื่องบินพระราชพาหนะ Boeing 737-400 และ Boeing 737-800 ซึ่งพระปรีชาสามารถด้านการบินดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ ทางด้านคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีการบินระดับสูงทางด้านทฤษฎี และการปฏิบัติอย่างลึกซึ้งทำให้การดำเนินงานตามแผนภารกิจต่างๆ เป็นไปอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด”

ทรงเป็นแบบอย่างใส่ผ้าไทย

ด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงมีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ปรากฏพระองค์ นอกจากฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารแล้ว จะทรงฉลองพระองค์ผ้าไทยในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแต่ละฉลองพระองค์ล้วนตัดขึ้นอย่างประณีตงดงาม

ดั่งบทสัมภาษณ์ของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ระบุว่า จ.มหาสารคาม ได้ทูลเกล้าฯ ถวายผ้าไทยโบราณ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เมื่อเสด็จฯ เป็นประธานในงานวันสตรีไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจแรก

“พระองค์ทรงนำผ้าที่ทูลเกล้าฯ ถวายมาตัดฉลองพระองค์ และทรงสวมให้ได้ชื่นชมในวันที่โดยเสด็จฯ ตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องมือแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยฉลองพระองค์ที่งดงาม และผ้าไทยที่ทรงมีพระมหากรุณาฯเลือกไปตัดเป็นฉลองพระองค์ ซึ่งมาจากของเรา สร้างความปลาบปลื้มให้กับสภาสตรีฯ และคนมหาสารคามเป็นอย่างมาก”ดร.วันดีกล่าว

ทรงสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนทอผ้าไทย และทรงเป็นแบบอย่างในการสวมใส่ผ้าไทย

พระราชทานกำลังใจสู้วิกฤตโควิด-19

ท่ามกลางห้วงเวลาแห่งความยากลำบาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงยื่นพระหัตถ์เข้ามาช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทย ทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะดูแลประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณและความช่วยเหลือในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงยังชีพ หน้ากากอนามัย และสิ่งของอื่นๆ ที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดหาและพระราชทานไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ และชุมชนแออัด ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

ในโอกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 และมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีรับสั่งทรงห่วงใยแพทย์ พยาบาล ว่า “หมออาจจะเหนื่อยหน่อยช่วงนี้ ฝากเป็นกำลังใจให้หมอกับพยาบาลด้วยค่ะ”

มิเพียงเท่านั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังทรงเย็บหน้ากากผ้าต้นแบบในโครงการพระราชทานความช่วยเหลือประชาชน สำหรับเป็นตัวอย่างให้กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์นำไปผลิตเพื่อพระราชทานแก่ข้าราชบริพารและราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้ง ทรงแนะนำผู้รับผิดชอบโครงการเย็บหน้ากากผ้าเพื่อวางแผนงานการผลิต สำหรับพระราชทานแก่ข้าราชบริพารและราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน

นอกจากนี้ ยังทรงพระราชทานหน้ากากผ้าฝีพระหัตถ์แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมภริยา และคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพและถวายแด่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ทรงใส่พระราชหฤทัยในทุกข์สุขของประชาชน และทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะดูแลประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และบรรเทาทุกข์ยากความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image