‘ทวี’โพสต์ จี้รบ.ใช้เงินกู้ฟื้นฟูให้เกิดประโยชน์ต่อปชช.

‘เงินกู้’ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ‘เป็นเงินของประชาชน’ รัฐบาลต้องส่งมอบเงินกู้ให้ “ประชาชนคิด ประชาชนใช้ และประชาชนทำประโยชน์”

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ(ปช.)โพสต์เฟซบุ๊กระบุ พ.ร.ก. การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย คือ 1. แผนงานสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงินรวม 600,000 ล้านบาท แยกเป็น ดูแลด้านสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท และเยียวยาประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ วงเงิน 555,000 ล้านบาท 2. แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงินรวม 400,000 ล้านบาท ในกรณีเงินกู้ที่นำไปใช้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 400,000 ล้านบาท เห็นว่ารัฐบาลควรส่งมอบเงินกู้ส่วนนี้ผ่าน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผ่านตำบล หมู่บ้าน หรือผ่านไปยัง ‘กองทุนหมู่บ้าน’ เพื่อให้ ‘ประชาชนคิด ประชาชนใช้ และประชาชนทำประโยชน์’ แทนการรวมศูนย์ไว้ที่คณะกรรมการเฉพาะกิจที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเพียงไม่เกิน 11 คน แทน

ซึ่ง ตาม พ.ร.ก. ในด้านการบริการจัดการเงินกู้ 1 ล้านล้าน อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังที่ใช้”ระบบของคณะกรรมการ” จำนวนไม่เกิน 11 คน มาจากข้าราชการประจำตำแหน่งวิชาการและอำนวยการ 6 ตำแหน่ง มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ และจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจานวนไม่เกิน 5 คน คณะกรรมการ มีอำนาจและหน้าที่ในการวางแผน กำหนดในใช้เงิน 1 ล้านล้าน ที่ พ.ร.ก.ไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ ทราบว่ามีการกู้เงินและใช้เงินไปเกือบ 200,000 ล้านบาทแล้ว สังคมต้องการทราบว่าผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งไปกี่คนแล้ว เป็นใครบ้าง?

ในกรณีแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงินรวม 400,000 ล้านบาทนั้น ทราบว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 เลขาสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ ประชุมชี้แจง ผู้ว่าราชจังหวัด และหน่วยงานทั่วประเทศ ให้จัดทำคำขอใช้เงินส่งภายในวันที่ 3 มิ.ย. 63 นำเข้า ก.บ.จ. จังหวัด และ วันที่ 4 มิ.ย. 63 รวบรวมส่งให้ คณะกรรมการกลั่นกรองตาม พ.ร.ก. พิจารณา การสั่งการที่ให้เวลาในการจัดทำโครงการน้อยมาก ส่วนราชการ หน่วยงานต่าง ๆ มักจะใช้วิธีการ เอาโครงการเดิม ๆ หรือโครงการเก่าที่เคยขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 หรือ 2563 หรือเก่ากว่ามาปัดฝุ่น และมีความซ้ำซ้อนกับงบประมาณอื่น ๆ ในแต่ละจังหวัดและหน่วยงานกระทรวง กรม จะเสนอโครงการเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาตัดออก โครงการจึงมี หลายหมื่นโครงการ จึงเกิดคำถามว่า คณะกรรมการฯ จะตรวจสอบกลั่นกรองอย่างไร?

Advertisement

โครงการต่าง ๆ ราชการกระทรวง กรม และจังหวัดจะมองว่าเป็นภาระหน่วยงาน ต้องรีบใช้งบประมาณเงินกู้ให้หมดเร็วๆ ขาดการมีส่วนรวมของประชาชน หลายส่วนราชการอาจความคิดว่าเงินกู้เป็นงานฝากที่ไม่มีตัวชี้วัดการปฏิบัติงานของส่วนราชการที่ตกลงไว้กับ กพร. และรัฐสภาตามที่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ จึงไม่สำคัญเท่างบประมาณรายจ่ายประจำปี คำกล่าวที่ได้ยินบ่อย คือ “เงินกู้ไม่มีค่าได้มาฟรีๆ ใช้ให้หมดๆ ไป ไม่มีผลกับตัวชี้วัดหน่วยงาน” หรือ “มัวแต่บริหารเงินกู้ไม่บริหารงบประมาณ พ.ศ. 2564 พอกลางปี หรือไตรมาสที่ 2 ใครจะรับผิดชอบถึงความสูญเปล่า ความไร้ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น รวมทั้งอาจจะเกิดการต้องคืนงบประมาณให้รัฐบาลเอาไปทำงบกลาง” ทั้งที่ความเป็นจริงเงินกู้ดังกล่าว “เป็นหนี้สาธารณะ” ที่เมื่อรวมกับหนี้สาธารณะเดิมจะมากกว่า 8 ล้านล้านบาท เป็นภาระของบุคคลทุกคนในปัจจุบันและที่จะเกิดในอนาคต ต้องร่วมกันใช้หนี้อาจใช้เวลาถึง 100 ปีก็เป็นได้ ซึ่ง ‘เงินกู้ ไม่ใช่ได้มาฟรี ๆ ต้องให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image