เปิดละเอียด! ผลประชุมกนง.มติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย0.25%

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 โดยนายวิรไท สันติประภพ เป็นประธานที่ประชุม มีเนื้อหาดังนี้ ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ รายงานว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้จากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักและเศรษฐกิจเอเชีย (ไม่รวมจีน) เข้าสู่ภาวะถดถอย การผลิตและการส่งออกหดตัวตาม
อุปสงค์โลก เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำ แม้ทางการจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดแต่ยังคงใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังต่ำกว่าปกติทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทั่วโลกได้ออกมาตรการการเงินการคลังเพื่อเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการคลังของประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายประเทศจะมีข้อจำกัดมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงขึ้น

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน ธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำมาก และขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (asset purchases) รวมถึงมาตรการให้กู้ยืมเงิน (lending facilities) เพิ่มเติมตามที่ได้ประกาศไว้ ขณะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคหลายแห่งผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม อาทิ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ธนาคารกลางสิงคโปร์ผ่อนคลายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ธนาคารกลางส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้นในระยะต่อไป

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสหดตัวมากกว่าคาดและฟื้นตัวช้า จากการระบาดของโควิด-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นในบางประเทศหรือกลับมารอบสองในประเทศที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดแล้ว

รวมถึงยังมีความเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ 1. การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมาทวีความรุนแรงขึ้น 2.ความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลกทั้งในและนอกภาคการเงิน เช่น ครัวเรือนและธุรกิจอาจมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงิน (solvency risk) หรือมีการเร่งขายสินทรัพย์เป็นจำนวนมากส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ลดลงเร็ว (distressed assets) และกลับมากระทบภาคเศรษฐกิจจริงได้ 3. ความผันผวนของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ และ 4. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ คณะกรรมการฯ จะติดตามการระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศและความเสี่ยงต่าง ๆ ข้างต้นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและความผันผวนในตลาดการเงินโลก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทย

Advertisement

ภาวะตลาดการเงิน รายงานว่า ตลาดการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพตลาดการเงิน โดย ธปท. ได้เข้าดูแลสภาพคล่องผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล จัดตั้งกลไกช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ปรับสูงขึ้นมากตามภาวะตลาดการเงินโลกตึงตัวขึ้น อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดรองผันผวนน้อยลง
ตลาดตราสารหนี้กลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติมากขึ้น ด้านสินเชื่อขยายตัวโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่พึ่งพาสินเชื่อแทนการออกตราสารหนี้มากขึ้น รวมทั้งความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องของระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบให้มากขึ้น สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาและการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) จากร้อยละ 0.46 เหลือร้อยละ 0.23 ของฐานเงินฝากเป็นเวลา 2 ปี

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. และสกุลเงินภูมิภาค สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนเริ่มลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น (risk-on sentiment) หลังสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ปรับดีขึ้นและหลายประเทศรวมถึงไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติจึงเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทย แต่ยังคงขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกทองคำที่สูงขึ้นตามทิศทางราคาทองคำอีกด้วย ในระยะข้างหน้า ตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามผลของมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกที่ได้ดำเนินการไป และศึกษาถึงมาตรการที่จะลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจากการส่งออกทองคำด้วย

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเสถียรภาพระบบการเงิน รายงานว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยการส่งออกบริการมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาดตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มลดลงมากจากมาตรการจำกัดการเดินทางที่อาจขยายระยะเวลาออกไป ด้านการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาดตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และราคาน้ำมันที่หดตัวส่งผลต่อราคาสินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม อุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศที่หดตัวส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนลดลงในวงกว้าง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว จากการว่างงานที่สูงขึ้นและมาตรการควบคุมการระบาด
อย่างไรก็ดี มาตรการเยียวยาของภาครัฐจะมีส่วนช่วยประคับประคองกำลังซื้อของครัวเรือนได้บางส่วน ทั้งนี้ ครัวเรือนภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากขึ้น

ส่วนครัวเรือนนอกภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากการลดชั่วโมงทำงาน การลดค่าจ้าง และการเลิกจ้างของธุรกิจ การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวจากอุปสงค์และความเชื่อมั่นที่ลดลงมาก รวมถึงธุรกิจปรับลดการลงทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง อย่างไรก็ดี ยังคงมีการลงทุนในกลุ่มโทรคมนาคมและกลุ่มสุขภาพเพื่อรับมือโควิด-19 และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จากการย้ายฐานการผลิตมาไทยของผู้ผลิตบางราย การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ โดยรัฐบาลขยายกรอบวงเงินมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบระยะที่ 1 และ 2 และออกมาตรการใหม่ระยะที่ 3 และอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงเม็ดเงินจากการออกพระราชกำหนดเพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 1 ล้านล้านบาทและแผนการปรับโครงสร้างงบประมาณปี 2563 ตามร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย โดยภาครัฐมุ่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและรองรับรายจ่ายด้านสาธารณสุข รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังสามารถควบคุมสถานการณ์ โควิด-19ได้
คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง

และวิเคราะห์หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น (scenario analysis) จากปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ 1. แนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าและการระบาดในต่างประเทศ รวมถึงผลสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนและยารักษา 2. การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและโอกาสที่จะเกิดการระบาดรอบสองในประเทศ และ 3. ประสิทธิผลของมาตรการด้านการคลัง การเงิน และสินเชื่อ โดยต้องออกใช้ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและทันการณ์เพื่อสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs ให้ดำเนินไปได้ต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ กังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานที่จะลดลงมากและอาจใช้เวลานานกว่าจะกลับเป็นปกติ ทั้งในกลุ่มลูกจ้างและผู้จ้างงานตนเอง (self-employed) โดยแรงงานบางส่วนอาจว่างงานชั่วคราวในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาด แต่แรงงานบางส่วนอาจว่างงานถาวรเนื่องจากธุรกิจประสบปัญหาด้านฐานะทางการเงินจนปิดกิจการ ลดการจ้างงานตามอุปสงค์ที่ลดลง หรือปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน (automation) มากขึ้น กลุ่มนักศึกษาจบใหม่จะหางานยากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและศักยภาพการเติบโตในระยะยาวลดต่ำลง (economic scars) จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการลงทุนภาคเอกชนมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากฐานะทางการเงินที่เปราะบางของภาคเอกชน แนวโน้มการว่างงาน และแนวโน้มเศรษฐกิจ ดังนั้น มาตรการการคลังและการลงทุนภาครัฐจะต้องเป็นเครื่องมือหลักในการประคับประคองเศรษฐกิจ รวมถึงลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะทรุดตัวมากจนถึงระดับที่ส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินในวงกว้าง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย โดยมีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่ประเมินไว้จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลงมากและมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้าของภาครัฐ รวมทั้งราคาในหมวดอาหารสดปรับลดลงตามอุปสงค์ในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาด
อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าหมวดอื่นส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและผลของมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ สอดคล้องกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดิบ คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบเป็นผลชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย จึงไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด (deflation risk)

ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ส่งผลให้เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น จำนวนครัวเรือนและธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องของภาครัฐจะทยอยสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และสายการบิน ได้รับผลกระทบมากจากโควิด-19 ส่วนธุรกิจปิโตรเลียมได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงจากทั้งในและต่างประเทศ ดัชนีราคาอาคารชุดเริ่มทรงตัวหลังจากที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการลดการเปิดโครงการใหม่ และเร่งส่งเสริมการขายเพื่อระบายอุปทานคงค้าง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ระดมทุนผ่านทั้งสินเชื่อ ธพ. และตราสารหนี้ภาคเอกชน อีกทั้งมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่นสูง เช่น ธุรกิจก่อสร้าง จึงควรติดตามภาวะอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) และด้านความมั่นคงทางการเงิน (solvency risk) ของครัวเรือนและธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพราะหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้กู้ ทั้ง ธพ. สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-banks) กองทุนรวม สหกรณ์ออมทรัพย์ และย้อนกลับมากระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ดี ระบบสถาบันการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ รวมถึง ธปท. ได้มีมาตรการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น Liquidity Coverage Ratio (LCR) และ Net Stable Funding Ratio (NSFR) ให้ต่ำกว่าร้อยละ 100 ได้ชั่วคราว ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ
คณะกรรมการฯ เห็นว่าสถาบันการเงินต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ (proactive debt restructuring) รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า และให้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาด เช่น การสร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditor) มีมาตรฐานและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น การขยายบทบาทของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (asset management company: AMC) ในการรองรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน ตลอดจนดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบการดำเนินนโยบายการเงิน

คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี ขณะที่กรรมการ 3 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมีผลกระทบต่อการจ้างงานและความเปราะบางด้านเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น อาจมีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างมากกว่าที่คาด ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถปรับตัวเพื่อดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดในปัจจุบันและรองรับโครงสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนไปในอนาคตได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและศักยภาพการเติบโตในระยะยาวลดต่ำลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้
กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น โดยปัจจัยลบดังกล่าวจะฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะ จึงควรผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อไม่ให้การดำเนินนโยบายล่าช้าเกินไป และให้มีประสิทธิผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันการณ์ รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการทางการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้
ขณะที่กรรมการ 3 ท่าน เห็นควรให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้และให้เร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว โดยกรรมการบางท่านเห็นควรให้รอประเมินผลการดำเนินนโยบายที่ผ่านมา รวมทั้งประเมินภาวะกิจกรรมทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการระบาดภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม ก่อนตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมในระยะต่อไป

คณะกรรมการฯ โดยรวมเห็นควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้นในระหว่างที่มาตรการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ยังมีผลบังคับใช้ และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ ทั้งโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของ ธปท. และของธนาคารออมสิน โครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และโครงการสินเชื่อที่ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์มีความสำคัญและจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตในระยะต่อไป ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของไทยในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 ยังอยู่ในระดับต่ำ อายุหนี้เฉลี่ยยาวประมาณ 10 ปี และเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในสกุลเงินบาท นโยบายการคลังของไทยจึงยังมีขีดความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางให้เหมาะสมหลังควบคุมการระบาดได้ ซึ่งอาจทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะต่อไปมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ หากการกู้ยืมดังกล่าวเป็นการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเพิ่มผลิตภาพในอนาคต นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินของภาครัฐอยู่ในระดับต่ำตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อจำเป็นต้องประสานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินมาตรการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ระยะฟื้นฟู ควรดำเนินมาตรการที่เน้นการจ้างงาน สร้างรายได้ และสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และเร่งรัด

การให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ก่อนที่มาตรการการเงินการคลังที่ออกมาในช่วงเยียวยาเศรษฐกิจจะทยอยสิ้นสุดลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและศักยภาพการเติบโตในระยะยาว นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐจะต้องสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของผู้ประกอบการ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่หลังจากการแพร่ระบาดคลี่คลายลงด้วย มองไปข้างหน้า
คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image