กรมปศุสัตว์หารือทำ”พีพีพี”ตามคำแนะนำองค์การสุขภาพสัตว์โลก ก้าวสู่สภาพปลอด”กาฬโรคม้า”

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่กรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ หารือการดำเนินการและมาตรการควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ นายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย นายนารา เกตุสิงห์ เลขาธิการสมาคมฯ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนจากหน่วยม้าทรงประจำพระองค์ ผู้แทนกรมการสัตว์ทหารบก ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
     
นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การเกิดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ในประเทศไทย มีแนวโน้มดีขึ้น สามารถควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในวงพื้นที่จำกัด กรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคมหาวิทยาลัย สมาคมฯ และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความร่วมมือจากผู้เลี้ยงม้า

นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า กรมปศุสัตว์มีเป้าหมายควบคุมโรคและขอคืนสภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก(โอไออี) โดยเร็วที่สุด เพื่อให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งมีแผนปฏิบัติการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า เพื่อคืนสภาพปลอดโรคของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 คือระยะเผชิญเหตุ (กำลังอยู่ในระยะนี้) ระยะที่ 2 คือการเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคอุบัติซ้ำ และระยะที่ 3 คือการขอคืนสภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก มีแผนเป้าหมายการฉีดวัคซีนในพื้นที่รอบจุดเกิดโรคในรัศมี 50 กิโลเมตร และในพื้นที่เสี่ยงสูงที่วิเคราะห์จากหลักระบาดวิทยา รวมใน 19 จังหวัด เป้าหมายในม้าจำนวน 7,999 ตัว ดำเนินการฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 6,500 ตัว (คิดเป็น 81.26%) (ข้อมูลวันที่ 3 มิถุนายน 2563) ซึ่งขอความร่วมมือผู้เลี้ยงม้าให้ทำตามมาตราการและข้อกำหนดก่อนและหลังการทำวัคซีนในม้าอย่างเคร่งครัด
     
องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้ให้คำแนะนำให้ประเทศไทยทำ Public Private Partnerships (PPP)หรือการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนอย่างเป็นทางการเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้เป็นหลักฐานและคู่มือในการดำเนินการเพื่อประกอบการขอสภาพปลอดโรค ซึ่งในทางปฏิบัติกรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนอยู่แล้ว จึงเห็นควรทำ PPP ในรูปแบบบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมฯ ภาคมหาวิทยาลัย และนักวิชาการต่างๆ โดยจะมีการพิจารณากำหนดขอบเขตความร่วมมือ รูปแบบความร่วมมือ และหน่วยงานที่ร่วมข้อกำหนดต่อไป นอกจากนี้ เพื่อเป็นความมั่นคงด้านวัคซีนและการป้องกันและควบคุมโรค AHS ในระดับภูมิภาคของอาเซียน มีการตั้ง OIE Sub-Regional Representation for South-East Asia ที่ประเทศไทย ตนในอธิบดีกรมปศุสัตว์ในฐานะ OIE Delegate of Thailand จะเสนอประเด็นให้พิจารณามีธนาคารวัคซีน ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ทางระบบการประชุมทางไกลกำหนดในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เพื่อความมั่นคงทางวัคซีนและสำรองวัคซีนไว้ใช้ในประเทศเพื่อนบ้านสำหรับภูมิภาคนี้ด้วย
     

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image