ข่าวดีวันเอิร์ธเดย์ นักพฤกษศาสตร์ไทยพบ “เครือเศวตภูลังกา” พืชชนิดใหม่ของโลก รอยต่อจ.บึงกาฬ-นครพนม

ข่าวดีวันเอิร์ธเดย์ นักพฤกษศาสตร์ไทยพบ “เครือเศวตภูลังกา” พืชชนิดใหม่ของโลก รอยต่อจ.บึงกาฬ-นครพนม

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน น.ส.ปวีณา ไตรเพิ่ม ผู้เชี่ยวชาญวงศ์ผักบุ้งจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ได้มีการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ในอุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.บึงกาฬและนครพนม โดยให้ชื่อว่า เครือเศวตภูลังกา Argyreia pseudosolanum Traiperm & Suddee ทั้งนี้เครือเศวตภูลังกา เป็นไม้เลื้อยจัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (Convolvulaceae) ได้รับการตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ในวารสารนานาชาติ PhytoKeys เล่มที่ 149 หน้าที่ 109-115 ปี 2020

น.ส.ปวีณา กล่าวว่า เครือเศวตภูลังกา มีลัษณะเป็นไม้เลื้อยดอกสีขาวบริสุทธิ์ ถูกค้นพบบนยอดภูลังกา ในเขต อ.บึงโขงหลง บริเวณรอยต่อระหว่างจ.บึงกาฬและนครพนม จากการออกสำรวจทางพฤกษศาสตร์ของทีมงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเดือนก.ย. ปี 2561 โดยได้ออกสำรวจติดตามหลายครั้ง แล้วส่งให้ตนตรวจสอบ พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ในสกุลเครือภู (Argyreia Lour.) จึงได้เขียนตีพิมพ์โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Argyreia pseudosolanum Traiperm & Suddee คำระบุชนิด “pseudosolanum” หมายถึงลักษณะดอกซึ่งเมื่อบานดูคล้ายดอกของพืชในวงศ์มะเขือ (Solanaceae) ชื่อไทยตั้งตามลักษณะของดอกและสถานที่พบ โดยเศวตแปลว่าสีขาว ตัวอย่างต้นแบบ S. Suddee, P. Puudjaa, C. Hemrat & W. Kiewbang 5363 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้

ผู้เชี่ยวชาญวงศ์ผักบุ้ง กล่าวต่อว่า สำหรับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเครือเศวตภูลังกา เป็นไม้เลื้อย ยาวได้ถึง 2 เมตร ใบเดี่ยว รูปรีแคบ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง 1-5 ซม. ยาว 7-17 ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือมนกลม ขอบเรียบ ผิวใบด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเข้ม ด้านล่างมีขนสีเงินเป็นมัน ช่อดอกออกตามซอกใบ เป็นช่อสั้น ๆ แต่ละช่อมีดอก 3-5 ดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ผิวด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอด ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม.

น.ส.ปวีณา กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลการศึกษาทบทวนพืชสกุล “เครือภู” ทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยอาจเป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ของพืชสกุลนี้ เนื่องจากมีจำนวนชนิดมากถึง 1 ใน 3 ของชนิดทั้งหมด และอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการค้นพบชนิดใหม่อยู่เสมอ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ของไทยได้เป็นอย่างดี

Advertisement

“การค้นพบพืชชนิดใหม่ เป็นผลพลอยได้จากการศึกษาเชิงลึกของนักอนุกรมวิธานพืชในกลุ่มนั้น ๆ สำหรับกรณีของเครือเศวตภูลังกา สามารถยืนยันว่าเป็นพืชชนิดใหม่ได้ไม่ยากเนื่องจากความเชี่ยวชาญในการสำรวจของทีมงานหอพรรณไม้นำทีมโดย นายสมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักหอพรรณไม้ฯ ที่สังเกตเห็นความพิเศษของลักษณะดอก ประกอบกับประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ศึกษาพืชสกุลนี้มาเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี ความร่วมมือจากสองสถาบันชั้นนำนี้ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อความหลากหลายและการอนุรักษ์ทรัพยากรพืชของประเทศไทย และหากได้รับความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไป ในการศึกษาต่อยอด อาจทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่เพื่อการใช้ประโยชน์พืชพรรณท้องถิ่นของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต” น.ส.ปวีณา กล่าว

น.ส.ปวีณา ไตรเพิ่ม

Advertisement

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image