องค์กรสตรี เชื่อคนส่วนใหญ่แยกแยะได้ มองนมผิดหรือไม่ผิด ชี้ใครเห็นด้วย ถือว่าสนับสนุนคุกคามทางเพศ  

ภาพประกอบ

องค์กรสตรี เชื่อคนส่วนใหญ่แยกแยะได้ มองนมผิดหรือไม่ผิด ชี้ใครเห็นด้วย ถือว่าสนับสนุนคุกคามทางเพศ  

จากกรณี บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี อดีตนางสาวไทย พิธีกร และนักแสดง ที่โพสต์อินสตาแกรมเสนอให้การคุกคามทางเพศ เช่น สะกดรอยตาม โทรศัพท์คุกคาม เป็นกฎหมายจริงจัง จะไม่แค่ลงบันทึกประจำวันอีกต่อไป ซึ่งเป็นข้อเสนอจริงในคณะอนุกรรมธิการศึกษากระบวนการยุติธรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร จนเกิดกระแสบนโลกออนไลน์ในกลุ่มผู้ชายและแฮชแท็กว่า #มองนมไม่ผิด ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทั้งเห็นด้วย เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ และไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าคือการคุกคามทางเพศอย่างหนึ่งนั้น

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เปิดเผยว่า การมองมีหลายลักษณะคือ มองทั่วไป ซึ่งคนปกติก็มอง เวลาต้องสื่อสารกับใคร คิดว่าคนส่วนใหญ่ก็มองออก แยกแยะได้ และมองที่เข้าข่ายคุกคามทางเพศ ซึ่งนิยามการคุกคามทางเพศ คือ พฤติกรรมที่คนหนึ่งกระทำต่ออีกคน ไม่ว่าจะสร้างสภาพแวดล้อมที่มีนัยยะเรื่องเพศ หรือพฤติกรรมแสดงออก และสื่อสารเรื่องเพศ ที่ไปสร้างความอึดอัดไม่พอใจแก่คนนั้นๆ ฉะนั้นการจะบอกว่ามองนมไม่ผิด ก็ต้องมาดูเจตนาว่ามีลักษณะการมองว่ามีนัยยะเรื่องเพศ แล้วสร้างความอึดอัดใจหรือความรู้สึกไม่ปลอดภัยแก่ผู้ที่ตกเป็นเป้าหรือไม่

ผู้จัดการแผนฯ กล่าวอีกว่า การพูดสื่อสารประเด็นสาธารณะมองนมไม่ผิด จนนำไปสู่คำพูดของบางคนว่าไม่อยากให้มองก็แต่งมิดชิดสิ เป็นการตอกย้ำคุกคามทางเพศเป็นเรื่องเล็ก ตลก ล้อเล่น ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะแค่มอง แต่เหล่านี้เป็นความคิดที่สร้างปัญหาในสังคม เพราะจากงานสำรวจการคุกคามทางเพศของแผนงานฯในปี 2560 ที่สำรวจการใช้บริการขนส่งสาธารณะ พบว่าผู้หญิงร้อยละ 45 ยอมรับว่าเคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่นเดียวกับมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ที่สำรวจออนไลน์ พบผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศถึงร้อยละ 80

“บางคนมองคุกคามทางเพศ ไม่ถึงกับข่มขืนสักหน่อย ความคิดแบบนี้จึงทำให้ปัญหาไม่ถูกแก้ไข ซึ่งเท่าที่คุยกับผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ พบว่าส่งผลกระทบไม่เพียง ณ ที่เกิดเหตุ บางคนยังมีความเครียด เช่น ผู้หญิงถูกสำเร็จความใคร่ใส่ เธอเกิดความหวาดระแวงในการเดินทางเส้นทางประจำ ต้องเครียดในการคิดจะเปลี่ยนเส้นทาง เปลี่ยนเวลาเดินทาง เพราะไม่อยากเจอผู้กระทำอีก ยิ่งบางคนผู้กระทำเป็นเพื่อนร่วมงานด้วย บางคนผู้กระทำเป็นหัวหน้างาน ก็ต้องสูญเสียโอกาสทางอาชีพ จนต้องลาออกไปเลย”

Advertisement

“ฉะนั้นประเด็นมองนมไม่ผิด โดยตัวมันเองอาจไม่ผิด แต่ก็เป็นความเห็นส่งเสริมการคุกคามทางเพศไม่ผิด ตอกย้ำวิธีคิดเดิมๆ ให้เรื่องคุกคามทางเพศยังอยู่ ลองคิดง่ายๆ ว่าหากเป็นคนใกล้ชิดเรา ญาติ พี่น้อง ถูกคุกคามทางเพศ ยังเป็นเรื่องเล็กอยู่หรือไม่”

ดร.วราภรณ์เห็นด้วยกับการทำให้คุกคามทางเพศเป็นกฎหมาย ตามข้อเสนอในคณะอนุ กมธ.ฯ เพื่อจะให้ชัดเจนไปเลยว่าพฤติกรรมใดบ้างผิด แล้วมีบทลงโทษอย่างไร เพราะกฎหมายปัจจุบันให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจตีความ หลายคนเวลาไปแจ้งความไม่สามารถจัดการกับผู้กระทำได้ เพราะอาจถูกบอกว่า “ไม่มีหลักฐาน มันเล็กน้อย คุณคิดไปเองรึเปล่า” สุดท้ายผู้กระทำลอยนวล

ดร.วราภรณ์ กล่าวต่ออีกว่า การมีกฎหมายคุกคามทางเพศที่ชัดเจน จะเป็นข้อดีในแง่ว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้น ผู้เสียหาย ผู้ช่วยเหลือผู้เสียหาย จะหยิบยกกฎหมายให้ตำรวจดำเนินการให้ชัดเจน เพราะกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เขียนกว้าง และต้องตีความพฤติกรรม อยู่ที่ตำรวจจะตีความว่าใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งไม่เป็นการคุ้มครอง ปกป้องผู้เสียหาย เช่น เจอแอบถ่ายใต้กระโปรงมา ไปแจ้งตำรวจ ตำรวจอาจบอกว่าเราอาจคิดไปเองหรือเปล่า หรือบนรถเมล์มีคนมาเบียด อาจถูกบอกว่าเพราะรถมีผู้โดยสารแน่นหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายได้บังคับใช้ เชื่อว่าจะสามารถปรามคนที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ เช่น ชอบถูไถ่คนบนรถ สะกดรอยตาม คุกคามตามที่ทำงาน ช่วยตัวเองในที่สาธารณะ รู้สึกยับยั้งชั่งใจว่าทำไม่ได้แล้วนะ มีกฎหมายเอาผิดแล้วนะ   

Advertisement

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

– ทัวร์ลง! เบนซ์ อาปาเช่ โพสต์รูปเลือกข้าง ‘บุ๋ม ปนัดดา’ โดนจวก ‘sexual harassment’

– ‘บุ๋ม’ พูดจริง ไม่มั่ว! ปธ.อนุ กมธ.ยัน หวังอุดช่องว่าง กม.อาญา ลดเหตุรุนแรงทางเพศ

– บุ๋ม-ปนัดดา สวนกลับ เอ๋-ปารีณา ‘ถ้าไม่ฉลาดให้อยู่เงียบๆ’ หลังโดนแซะ ‘มั่ว’ กฎหมายข่มขืน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image