โมเดลฟื้นส่งออก ‘วี-ยู-แอล’เชป ฝ่าวิกฤต‘โควิด’

โมเดลฟื้นส่งออก ‘วี-ยู-แอล’เชป ฝ่าวิกฤต‘โควิด’

ตลอด 3 เดือนที่ไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดผลกระทบทั้งต่อคนไทยทั้งภาคสังคม และเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจ ผลกระทบหนักๆ คือ ภาคการส่งออก โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประเมินการส่งออกปีนี้จะติดลบ 8% ขึ้นไป ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ คาดว่าจะติดลบระดับ 5-6% ขณะที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์ส่งออกติดลบ 8%

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. ระบุว่า ขณะนี้ สรท.ได้ทำการศึกษาและกำหนดรูปแบบของการฟื้นตัวธุรกิจแต่ละประเภท ออกเป็น 3 รูปแบบ คือ วี เชป คาดว่าธุรกิจจะฟื้นตัวได้ในระยะสั้น ประมาณไตรมาส 2-3 ปีนี้, ยู เชป คาดว่าธุรกิจจะฟื้นตัวได้ในระยะกลาง ประมาณไตรมาส 4 ปีนี้-ไตรมาส 1 ปี 2564 และ แอล เชป คาดว่าธุรกิจจะฟื้นตัวได้ในระยะยาว ประมาณไตรมาส 2 ปีนี้เป็นต้นไป

โดยการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้นที่เสนอต่อภาครัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการส่งออก ให้กำหนดทิศทางของแต่ละอุตสาหกรรมหลังจากนี้ได้ชัดเจน

สำหรับรายละเอียดของ วี เชปŽ ประกอบด้วย 6 อุตสาหกรรม คือ อาหาร ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการแต่ต้องรอการปลดล็อกของแต่ละประเทศ แต่กลุ่มนี้ยังมีอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะจีนและอาเซียน และภาพรวมมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อที่ดี, ชิ้นส่วนยานยนต์ ความต้องการจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 เพราะเป็นช่วงออกงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ลูกค้าเริ่มกลับมามีกำลังซื้อบ้างแล้ว, กลุ่มเครื่องจักรอัตโนมัติ จะฟื้นตัวเพราะผู้ผลิตมีการลงทุนเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานคนมากขึ้น

Advertisement

อิเล็กทรอนิกส์ มีการผลิตต่อเนื่อง เพราะมีการเตรียมความพร้อมในกระบวนการผลิตเพื่อป้องกันเชื้อ และการทำงานบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเวิร์ก ฟรอม โฮม ถาวร ทำให้มีความต้องการอุปกรณ์สำหรับทำงานออนไลน์มากขึ้น, ผลิตภัณฑ์พลาสติก มีความต้องการต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ในรูปของบรรจุภัณฑ์สำหรับเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยาง เน้นสำหรับเวชภัณฑ์ เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น

ขณะที่ ยู เชปŽ ประกอบด้วย 9 อุตสาหกรรม คือ อาหาร เฉพาะที่เสิร์ฟในร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงงาน กลุ่มนี้ต้องรอให้ภาคบริการฟื้นตัวและมีการจัดระเบียบปฏิบัติใหม่, สินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง แช่เย็น ยังมีความต้องการในตลาดต่างประเทศสูง เนื่องจากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ยกเว้น กุ้งที่ขาดแคลนวัตถุดิบ, ข้าว เนื่องจากโลจิสติกส์ในบางประเทศยังไม่พร้อมเปิด เพราะช่วงเวลาล็อกดาวน์ที่ต่างกัน และยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในประเทศ และกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญ

น้ำตาล พบว่าผลผลิตครึ่งปีหลังจะลดลงทำให้ปริมาณเพื่อขายมีน้อย และไทยอาจเลือกให้มีเพียงพอในประเทศเป็นหลัก ต้องรอการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิต 2563/64 เดือนพฤศจิกายนนี้ ขณะที่ตลาดโลกเองก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ความต้องการน้อยลง, เครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มเครื่องปรับอากาศไม่ได้รับผลกระทบทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน

Advertisement

ขณะที่อุตสาหกรรมเองมีการปรับไลน์การผลิตไปสู่อุปกรณ์ความดันลบสำหรับทางการแพทย์ และผลจากกำลังซื้อลดลงเล็กน้อยทั้งในประเทศและต่างประเทศ วัสดุก่อสร้าง ต้องรอมาตรการคลายล็อกดาวน์ และมาตรการโซเชียล ดิสแทนซิ่ง ให้บรรเทาลง

จากนั้นคาดว่าจะกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รอสถานการณ์ส่งออกสำหรับฤดูกาลใหม่, ผลิตภัณฑ์ยาง ลดลงต่อเนื่องจากการใช้ยางพาราที่ลดลง โดยเฉพาะยางล้อ และเคมีภัณฑ์ ได้รับผลกระทบติดลบจากราคาน้ำมัน แต่หลังจากนี้ความต้องการซื้อจะกลับมาอีกครั้ง

ขณะที่ แอล เชปŽ ประกอบด้วย 6 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ ยางพารา ที่ปริมาณการส่งออกลดลงแม้ราคาไม่ลด และผลิตภัณฑ์ยางได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์และยางล้อเครื่องบินที่ลดความต้องการลง รวมทั้งผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง, มันสำปะหลัง เกิดปัญหาโรคใบด่าง ปัญหาภัยแล้ง และตลาดจีนหดตัวต่อเนื่อง, ยานยนต์ ได้รับผลกระทบจากปริมาณการเดินทางที่ลดลง ทำให้ความต้องการใช้รถลดลง และผู้ใช้รถเน้นการซ่อมบำรุงมากกว่า และบางกลุ่มไม่มีกำลังซื้อหลังได้รับผลกระทบโควิด-19 อัญมณี ไม่รวมทองคำ
พบว่ามีการบริโภคลดลง, เม็ดพลาสติก ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันลดลง และความต้องการซื้อในตลาดลดลงมาก และน้ำมัน ผลจากราคาน้ำมันที่มีความผันผวนจากขาลงกลายเป็นขาขึ้น ลากยาวต่อเนื่องไปตลอดปีนี้

การส่งออกปีนี้คาดการณ์ได้ยาก อาจมีโอกาสติดลบเพิ่มอีก หากการระบาดของโควิดยังไม่ชัดเจนว่าจะหมดลง เบื้องต้นจึงประเมินว่าหากไม่มีการระบาดรอบ 2 หรือตังเลขระบาดไม่ได้รุนแรง ไตรมาส 4 การส่งออกน่าจะดีขึ้นกว่าทุกไตรมาส ปีนี้การส่งออกขึ้นอยู่กับระยะเวลาการระบาดของโควิด

อย่างไรก็ตาม สรท.มีความต้องการให้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพราะเป็นการพยุงการส่งออกที่เหลืออยู่และไม่ก่อปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจ ซึ่งเจอทั้งรายได้หาย ส่งออกไม่ได้ และเข้าถึงแหล่งกู้ไม่ได้Ž วิศิษฐ์ ระบุ

ล่าสุด ปัจจัยค่าเงินบาท กำลังทำให้เอกชนเกิดความกังวล เพราะมีความผันผวน แข็งค่าต่อเนื่องตลอด 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และยังแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งทำให้แข่งขันด้านราคาได้ยากขึ้น

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาสŽ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยอมรับว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะถัดไปยังมีความไม่แน่นอนสูงภายใต้สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในปัจจุบัน และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ และการประชุม กนง.ในครั้งก่อน คณะกรรมการฯมีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นและอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามและดูแลสถานการณ์ในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

ทั้งสถานการณ์โควิด-19 และค่าเงินบาท ล้วนเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ชี้ชะตาการส่งออกที่ผู้ส่งออกเองต้องปรับตัวให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image