วช. ชี้ ศูนย์กลางระบาด โควิด-19 ย้ายไปอเมริกาใต้-กลาง-เอเชียใต้-ตะวันออกกลาง จับตามองแอฟริกาอย่างใกล้ชิด

วช. ชี้ ศูนย์กลางระบาด โควิด-19 ย้ายไปอเมริกาใต้-อเมริกากลาง-เอเชียใต้-ตะวันออกกลาง แต่ยังต้องจับตามองแอฟริกาอย่างใกล้ชิด

วันที่ 6 มิถุนายน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของ ศบค. เปิดเผยผลการวิเคราะห์และติดตามการระบาดของโรคโควิค-19 ทั่วโลก ว่า ประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี จนในช่วงเดือนที่ผ่านมาจำนวนผู้ที่ติดเชื้อจากภายในประเทศลดลงอย่างมาก โดยไม่มีผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศติดต่อกัน 12 วันแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อที่รายงานเพิ่มขึ้นในแต่ละวันนั้นเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศซึ่งได้รับการดูแลในสถานที่ควบคุมของรัฐ (State quarantine)

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั่วโลกยังน่าเป็นห่วง โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 100,000 คนต่อวัน และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำลายสถิติเดิมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ได้มีการเปลี่ยนบริเวณศูนย์กลางของการระบาดไปสู่ภูมิภาคใหม่ในแต่ละทวีปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถแบ่งศูนย์กลางการระบาดหลักได้เป็นช่วงๆ ดังนี้

– ช่วงแรกของการระบาด ในสองเดือนแรก ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศจีน โดยเริ่มมีรายงานการติดเชื้อประปรายจากผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน

– ช่วงต่อมาเกิดการระบาดใหญ่ในทวีปยุโรป โดยเฉพาะ ที่ประเทศอิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมัน และประเทศ อื่นๆ เกือบทั่วยุโรป ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่ควบคุมได้แล้ว แต่ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในรัสเซียและสวีเดน

Advertisement

– ช่วงที่สาม ขยับศูนย์กลางการระบาดไปที่สหรัฐอเมริกาเกือบทั่วประเทศ พบผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะในรัฐนิวยอร์ก ทำให้มีผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาแล้วเกือบสองล้านคน

ส่วนในช่วงปัจจุบัน ในเดือนที่ผ่านมาสถานการณ์การติดเชื้อในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาคงตัวและค่อยๆ เริ่มลดลงในหลายประเทศ แต่พบว่าศูนย์กลางการระบาดได้ขยับต่อไปอีก ย้ายไปในบริเวณที่เดิมพบผู้ติดเชื้อไม่มากนักแต่เป็นภูมิภาคที่มีประชากรอยู่มาก โดยผู้ติดเชื้อใหม่ที่รายงานในระยะนี้มาจากสองภูมิภาคหลัก กลุ่มแรก คือ ทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลาง (ลาตินอเมริกา) รวมทั้งหมู่เกาะคาริบเบียน กลุ่มที่สองคือ เอเชียใต้และตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทวีปแอฟริกา ซึ่งถึงแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับสองภูมิภาคดังกล่าว แต่แอฟริกามีประชากรมากและระบบการแพทย์และสาธารณสุขยังไม่ดีนัก มีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางการระบาดในช่วงต่อไปได้

ทั้งนี้ประเทศที่ต้องจับตามองสถานการณ์ ในช่วงนี้ ได้แก่ บราซิล เม็กซิโก ชิลี เปรู โคลัมเบีย รัสเซีย อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ อิหร่าน อิรัก ซาอุดิอาระเบียและประเทศต่างๆในตะวันออกกลาง รวมทั้งในแอฟริกาใต้ ลิเบีย อูกันดา โมซัมบิค และเฮติ

สำหรับในภูมิภาคอาเซียน สถานการณ์ทั่วไปคงตัวและดีขึ้น เป็นภูมิภาคที่ควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดี เมื่อเทียบกับในภูมิภาคอื่น ขณะนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มที่ยังพบผู้ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดิม ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ , กลุ่มที่มีผู้ติดเชื้อใหม่จากภายในประเทศลดลงและอยู่ในระดับที่ควบคุมภายในประเทศได้แล้ว ได้แก่ ไทยและมาเลเซีย , และกลุ่มที่มีผู้ติดเชื้อน้อยหรือข้อมูลยังไม่มากนักได้แก่ เวียดนาม บรูไน พม่า กัมพูชา และลาว ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียตนาม ในช่วงนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางเข้าประเทศหรืออยู่ในกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติที่ได้รับการควบคุม

 

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image