แห่ขาย-ให้เช่า ‘โรงแรม’ ‘สมุย-ภูเก็ต’อ่วม

วิกฤตโรคโควิด-19 ระบาดซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ฟุบมาอย่างน้อย 5-6 ปี ประเทศไทยที่พึ่งการท่องเที่ยวเป็นเสาหลัก ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมอยู่ในอาการโคม่า เมื่อนักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้ามา รายได้ที่เคยได้รับก็หายไปทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการที่สายป่านไม่ยาว ทุนไม่หนา ก็เริ่มที่จะแห้งตาย

จากการไปสำรวจผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อหาความเคลื่อนไหวปรากฏการณ์ประกาศขายโรงแรมนั้น

นายปรีชาวุฒิ กี่สิ้น ประธานมูลนิธิพัฒนาป่าตอง/ผู้บริหารบริษัท พิโซน่ากรุ๊ป จำกัด และเป็นผู้บริหารโรงแรมในพื้นที่หาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า จากข้อมูลทราบว่าขณะนี้มีกลุ่มทุนต่างชาติต้องการขายเซ้งหรือให้เช่ากิจการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มร้านค้า อาคารพาณิชย์ พบว่ามีประมาณ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีรายได้เป็นศูนย์และไม่ต้องการแบกภาระต่อไป

ส่วนในกลุ่มโรงแรมเองก็พบว่าเริ่มมีความเคลื่อนไหวโดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรม เกสต์เฮาส์ขนาดเล็ก ขนาดกลางที่เป็นทุนต่างชาติ บางส่วนก็เริ่มมีการติดป้ายให้เช่าระยะยาว และบางส่วนมีการประกาศขายผ่านทางเว็บไซต์ ขณะที่บางส่วนมีการพูดคุยผ่านนายหน้ากันภายใน จึงยังไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจน ส่วนโรงแรมขนาดใหญ่ก็เริ่มมีประกาศผ่านทางเว็บไซต์ตามที่ทราบ

Advertisement

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าโรงแรมขนาดกลางที่เป็นทุนท้องถิ่นในพื้นที่หาดป่าตอง ที่สายป่านยาวก็ยังไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวมากนัก เพราะยังมีทุนหรือปรับลดต้นทุนได้ แต่ก็มีบางส่วนที่เริ่มพูดคุยหรือประกาศขายเป็นการภายใน มีนายหน้ามาดูมาพูดคุย ต่อรองราคากัน ซึ่งโรงแรมของตนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยได้เสนอขายเนื่องจากต้องการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจอื่น

“ส่วนตัวเชื่อว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะส่งผลยาวนานต่อไปอีก อาจจะต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เพื่อกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และจากการคาดการณ์ว่าไฮซีซั่นนี้จะมีนักท่องเที่ยวกลับมาประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่โรงแรมส่วนใหญ่ต้องการต้นทุนที่ 50 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้อยู่ได้ และจะทำกำไรได้ต้องมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จึงคาดว่าจะต้องติดลบ 20 เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่อง ดังนั้นถึงแม้จะเปิดได้แต่ก็ขาดทุน และมื่อขาดทุนระยะยาวก็เชื่อว่าหลังผ่านไฮซีซั่นถึง 1 ปี หลังจากนี้ไปจะมีการประกาศขาย หรือให้เช่าเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน” นายปรีชาวุฒิระบุ

ขณะที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน รายได้หลักของเกาะสมุยมาจากการท่องเที่ยว แต่เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวได้ก็ไม่มีรายได้เข้ามา แต่ผู้ประกอบการยังต้องแบกภาระจนกระทบต่อสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ

Advertisement

นายวรสิทธิ์ ผ่องคำพันธุ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวว่า เรื่องการขาดสภาพคล่องของเจ้าของธุรกิจโรงแรมบนเกาะสมุย เริ่มตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2562 ซึ่งมาดีขึ้นช่วงต้นเดือนมกราคม แต่พอเข้าเดือนกุมภาพันธ์ก็เริ่มเกิดปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาด สำหรับการเข้าถึงเงินกู้เสริมสภาพคล่องนั้น รัฐบาลได้ประกาศอย่างเต็มภาคภูมิใจที่จะช่วยเข้ามาเยียวยาสำหรับภาคการท่องเที่ยว1หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันธนาคารที่เป็นของรัฐผู้ประกอบการจะเข้าไปให้ถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่มีดอกเบี้ยเงินกู้ 2% นั้นเป็นไปด้วยความลำบาก หากผู้ประกอบการต้องการกู้เงิน 20 ล้านบาท จะต้องหาหลักทรัพย์คำประกันมากกว่าปกติเหมือนกับว่าขอกู้เงิน 100 ล้านบาท จึงอยากขอความกรุณาธนาคารช่วยลดเงื่อนไขในเรื่องพวกนี้ด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง ไม่เช่นนั้นเกาะสมุยอาจจะมีผู้ประกอบการประกาศขาย นับ 100 โรงแรม แน่ๆขอวิงวอนให้รัฐบาลช่วยดูแลเรื่องนี้

ขณะที่ นายเสนีย์ ภูวเศรษฐาวร รองประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าของโรงแรมคอรอล คลิฟ บีช รีสอร์ท เกาะสมุย กล่าวว่า หลังการผ่อนคลายระยะที่ 3 แล้ว ก็มีสถานประกอบการโรงแรมบางส่วนเปิดให้บริการแต่ก็ไม่ถึงร้อยละ 10 ของโรงแรมบนเกาะสมุย เพราะโรงแรมส่วนใหญ่ของเกาะสมุยต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ตราบใดที่สนามบินในประเทศไทยยังไม่สามารถรับเครื่องบินจากต่างประเทศได้ จะไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยในช่วงนี้ เพราะการเปิดโรงแรมจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ถ้าหวังนักท่องเที่ยวคนไทยเพียงอย่างเดียวจะไม่พอกับค่าใช้จ่าย เพราะนักท่องเที่ยวคนไทยมาพักในระยะ
สั้นๆ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ เฉลี่ยแล้วเพียง 1 คืน เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เฉลี่ยแล้วประมาณ 7-14 วัน

“ในช่วงที่โรงแรมปิด ได้ให้พนักงานรับเงินเดือนจากประกันสังคมที่ช่วยเหลือ 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 มิถุนายนนี้ หลังจากนี้โรงแรมต่างๆ น่าจะเริ่มมีปัญหาค่าใช้จ่ายที่จะสูงขึ้น ต้องจ่ายค่าแรงพนักงานเต็มจำนวนแต่ไม่มีลูกค้าเข้าพัก ซึ่งจะสร้างภาระต่างๆตามมา เรายังไม่ต้องการจะขายโรงแรมไป แต่ถ้าถึงจุดวิกฤตก็น่าจะมีหลายๆ โรงแรมจำเป็นจะต้องขายกิจการ” นายเสนีย์ ระบุ

ด้าน นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวถึงกระแสข่าวการประกาศขายโรงแรมว่า “ยืนยันว่าไม่ใช่การเทขายยกเกาะ และคิดว่าเป็นคำพูดที่เกินเลยไปหน่อย ที่มีการประกาศขายค่อนข้างชัดเจนจะเป็นโรงแรมขนาดเล็กที่ประสบปัญหาเงินทุนหรือมีสายป่านยาวไม่พอ และอาจจะถอดใจ จึงมีการประกาศเซ้ง แต่โรงแรมขนาดกลางและขนาดใหญ่จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งทำให้ลดต้นทุนและสามารถเดินต่อได้ เพราะเชื่อมั่นว่าภูเก็ตยังเป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวมากกว่าจังหวัดอื่นๆ และยังสามารถทำกำไรได้ จึงทำให้ผู้ประกอบการยังมีความหวังที่จะเดินหน้าธุรกิจต่อ โดยเฉพาะเจ้าของซึ่งเป็นทุนท้องถิ่นแม้ว่าสายป่านอาจจะไม่ยาวเท่าทุนต่างชาติ แต่ด้วยสัมพันธภาพที่ดีกับพนักงานที่สามารถพูดคุยกันได้ทำให้สามารถลดต้นทุนได้ระดับหนึ่ง และเป็นจุดแข็งของทุนท้องถิ่นในการเดินหน้าธุรกิจต่อไป

“โรงแรมที่มีการประกาศขายมาก่อนที่จะมีโควิด-19 แต่เมื่อมีสถานการณ์นี้ทำให้มีการตัดสินใจเร็วขึ้น ซึ่งทางสมาคมอยู่ระหว่างการสำรวจสมาชิกว่ามีผู้ประกอบการรายใดที่จะประกาศขายโรงแรมหรือไม่ เพื่อที่เราจะเป็นช่องทางให้พบกับนักลงทุนตัวจริงโดยไม่ต้องผ่านนายหน้า โรงแรมที่ประกาศขายนั้นมีทุกระดับแต่ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมขนาดเล็กเนื่องจากประสบกับภาวะขาดทุน กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในเขตตัวเมือง ซึ่งไม่ใช่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมากลุ่มนี้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่หากเป็นในย่านแหล่งท่องเที่ยว เช่น ป่าตอง เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการสร้างเพื่อให้เช่า จึงมีการประกาศหาผู้เช่าเพื่อบริหารงานทั้งคนไทยและต่างชาติ เมื่อประสบปัญหาเนื่องจากไม่ตั้งใจที่จะบริหารเองอยู่แล้วทำให้มีการประกาศขาย จึงทำให้เห็นภาพว่ามีการประกาศขายค่อนข้างมาก” นายก้องศักดิ์ระบุ

นับเป็นเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการที่ประสบภาวะวิกฤตไวรัสส่งถึงรัฐบาลต้องช่วยประคับประคองผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image