การสอบวิชากฎหมายแบบวิธีเดิมในโลกปัจจุบัน 2020 โดย นพดล ปกรณ์นิมิตดี

 

เรียนกฎหมายท่องจำเยอะ วิชากฎหมายเป็นวิชาท่องจำ ของคนท่องเก่ง คำพูดนี้ทำให้ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการรู้สึกเศร้าใจ เพราะมันไม่ใช่วิธีการเรียนการสอนที่ถูกต้องเลย

เพราะหากการจำตัวบทได้เยอะ อ่านหนังสือมากๆ และบัณฑิตคณะนิติศาสตร์สอบรับราชการได้ในตำแหน่งที่นักกฎหมายส่วนใหญ่ใฝ่ฝัน ยังคงเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของบัณฑิต ในบางสถาบันการศึกษา หลักฐานเชิงประจักษ์นี้ สะท้อนได้จากสนามสอบแข่งขันเข้ารับราชการที่สำคัญๆ ในแวดวงกฎหมาย บรรดาผู้เข้าสอบแข่งขันที่อยู่หน้าห้องสอบ ก่อนเวลาสอบครึ่งวันเช้า ส่วนใหญ่จะถือตัวบทคือประมวลกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติที่ต้องสอบในภาคบ่าย เสียมากกว่า และพยายามท่องจำให้ได้มาก แทบจะไม่ค่อยมี หรือมีน้อยมาก ที่ใครบางคนจะมานั่งอ่านคำอธิบายในเช้าวันที่สอบเพื่อทบทวน หรืออาจเพราะคิดว่าคำตอบอยู่ที่ตัวบทหรือกระไร แต่หากเราคิดใหม่ โดยอนุญาตเลยให้นำตัวบทเข้าออกห้องสอบได้ จะเกิดอะไรขึ้นครับ กับการสอบแบบวิธีเดิมที่ผ่านมา

อ่านคำตอบโดยดูจากการแสดงความคิดเห็น ที่มีฐานความรู้ วิธีการตรวจข้อสอบโดยลดความสำคัญกับคำตอบ จากตัวบท ที่ผู้สอบสามารถลอกตัวบทจากความจำได้แม่นยำ และไม่ควรมีคะแนนตัวบทหรือคะแนนน้ำหมึกอีกต่อไปแล้ว ยังคงเป็นคำถามที่น่าคิด เพราะการอธิบายหลักกฎหมายได้อย่างถูกต้อง โดยวัดผลจากความรู้และเหตุผลในการใช้กฎหมายที่ถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญของการเป็นนักกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งศาสตร์กฎหมายเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้องค์ความรู้ในสาขาวิชาอื่น ที่ผู้เรียนต้องใช้เวลาเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ด้วยอีกมาก การเสียเวลาของผู้เรียน โดยให้ความสำคัญกับตัวบทที่เอามาใช้เป็นธงคำตอบ ในวิธีการวัดผล และใช้ตัวบท checklist เป็นประเด็นในคำตอบ ควรจะน้อยลง โดยใช้การทดสอบความเข้าใจ ความเห็น และสอบการใช้เหตุผลกฎหมายในแต่ละเรื่องที่เรียนมาได้ถูกต้องแม่นยำ ทดแทน ซึ่งวิธีนี้จะสะท้อนความจำตัวบทกฎหมายของผู้เรียนได้อยู่แล้ว

Advertisement

บทความนี้จะเป็นการกล่าวถึงเฉพาะการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นปริญญาตรี หรือหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตเท่านั้นครับ ด้วยเพราะกรณีระดับปริญญาชั้นปริญญาโท หรือปริญญาเอก แนวทางการจัดการเรียนการสอน และการสอบวัดผล ที่ผ่านมามีความแตกต่างและได้รับการยอมรับในเรื่องวิธีการจัดการเรียนการสอน และการวัดผล ที่แตกต่างกันได้อยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากอดีต ตอนที่สถาบันอุดมศึกษาอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี และก็มีประกาศเรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา แยกเป็นอีกฉบับ

การเรียนการสอน ในระดับบัณฑิตศึกษา รวมถึงการสอบ น่าจะแตกต่างจากระดับชั้นปริญญาตรี การเรียนการสอนกฎหมายในระดับชั้นปริญญาตรี อาจารย์ต้องสอนวิชากฎหมายพื้นฐานทุกเรื่อง แถมด้วยกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่ นักศึกษาควรรู้บนหลักการที่ว่า จำตัวบทได้ เข้าใจตัวบท และใช้ได้อย่างถูกต้อง ที่ผ่านมาเราอาจต้องการทดสอบความจำของนักศึกษาว่า จำตัวบท และเข้าใจ และใช้กฎหมายเป็นหรือไม่ (ใช้กฎหมายได้ถูกต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริง) โดยวัดผลจากข้อสอบ ในรูปแบบคำถามปัญหาตุ๊กตา (เหตุการณ์สมมุติ และให้นักศึกษาวินิจฉัยโดยนำกฎหมายมาปรับใช้) หรือข้อสอบอัตนัยหรือแบบบรรยายความ (เป็นการถามความรู้กฎหมาย จากความจำผู้เรียน) เช่น ถามว่า กฎหมายมหาชน คืออะไร เป็นต้น

รูปแบบข้อสอบกฎหมายในชั้นปริญญาตรี จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า นักศึกษาผู้เข้าสอบจะต้องจำตัวบท และเข้าใจได้หมด ไม่ว่าจะถามอะไร แต่ข้อสอบในระดับบัณฑิตศึกษาได้ก้าวข้ามผ่านการทดสอบความจำของนักกฎหมาย ไปสู่การแสดงความคิดเห็น การวิเคราะห์ วิพากษ์กฎหมาย สอบวัดความรู้จากปัญหาในทางปฏิบัติ มากกว่าการใช้ความจำในตัวบท ซึ่งอันที่จริงสถาบันการศึกษาบางแห่ง ในกรณีหลักสูตร ป. ตรี ได้ก้าวผ่านรูปแบบการ วัดผลแบบการสอบไล่ความจำของนักศึกษากฎหมาย ในระดับชั้นปริญญาตรี ไปสู่การวัดผลคล้ายกับระดับบัณฑิตศึกษามานานแล้ว โดยรูปแบบข้อสอบที่เห็น จะแตกต่างจากรูปแบบข้อสอบ ที่วัดผลจากความจำ ตัวบทกฎหมายนะครับ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ข้อสอบ
ป. ตรี บางสถาบัน ออกข้อสอบในแนวข้อสอบ ป. โท แล้วครับ การวัดผลนักศึกษาแบบไหน ที่สามารถนำมาใช้กับนักศึกษา ป. ตรี ส่วนใหญ่ได้ ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่ง ที่อาจเห็นต่างกันอยู่

Advertisement

ท้ายที่สุดนี้ การจัดการเรียนการสอน online ณ ขณะนี้ ก็อาจจะยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับบางที่ แต่ขออนุญาตคิดใหม่อีกสักเรื่องในเรื่องวิธีการสอบ โดย Closebook ทุกอย่าง อาจต้องพิจารณาใหม่บางส่วน โดยอาจเริ่มเปิดพื้นที่ให้กับประมวลกฎหมายหรือตัวบท เพื่อการปฏิรูปการเรียนการสอนกฎหมาย เพื่อไม่ให้ใครมาต่อว่าพวกเราได้ว่า เป็นนิติอักษรศาสตร์ การที่จะอนุญาตให้ผู้เข้าสอบ ตั้งแต่ชั้น ป. ตรี ของคณะนิติศาสตร์ทุกสถาบันการศึกษา สามารถนำแค่เพียงประมวลกฎหมายหรือตัวบท ที่คณะเตรียมไว้ให้เท่านั้น เข้าห้องสอบได้ทุกวิชา ไม่ว่าจะเป็นในการสอบกฎหมายใน ชั้น ป. ตรี หรือการสอบวัดความรู้ด้านกฎหมาย และการสอบแข่งขันเข้าทำงาน ในสายกฎหมายที่สำคัญๆ คงฝากไว้เป็นคำถามนะครับ แต่ย้ำว่า ต้องเปลี่ยนวิธีการตรวจข้อสอบ และวิธีให้คะแนนนักศึกษาด้วย เพื่อจะได้คำตอบว่า คุณภาพของนักศึกษาหรือผู้สอบที่ตอบด้วยวิธีนี้ กับวิธีเดิม จะแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ถ้าสอบไม่ได้ ตกคือตก ครับ ดังที่บางคนกล่าวว่า ชีวิตการทำงานจริงของนักกฎหมาย ก็ต้องเปิดตัวบทกฎหมายเพื่อใช้ทำงานอยู่ดี คำถามที่สงสัยก็คือ outcome learning ของการศึกษากฎหมาย อยู่ตรงไหนกันแน่…..หรือครับ

นพดล ปกรณ์นิมิตดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image