เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ที่ สมาคมประมงระนอง จ.ระนอง นายสมทรัพย์ จิตตะธัม นายกสมาคมประมงระนอง ให้สัมภาษณ์ว่า มีข้อมูลออกมาจากกรมประมง จะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการออกทำการประมง จากเดิมกำหนดให้ออกทำการได้ 240 -270 วันต่อปี เปลี่ยนมาเป็นกำหนดน้ำหนักที่จะให้จับได้ตามขนาดของเรือ ซึ่งจากการพูดคุยและคำนวณแล้วพบว่าจะทำการประมงได้ราว 3-6 เดือนเท่านั้น ซึ่งเดิมกำหนดไว้ 8-9 เดือน ทำให้ทำประมงไม่ค่อยพอใจ แต่ต้องยอมปฏิบัติตามข้ออ้างว่าต้องการอนุรักษ์และให้ทำประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์นี้มาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน และชาวประมงร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐจนประเทศไทยจนสามารถหลุดจากใบเหลืองของ IUU และปลดออกจากเทียร์ 3 ขึ้นมาเทียร์ 2 แล้ว แต่รัฐยังซ้ำเติมอีก เพียงเพราะคำว่าอนุรักษ์ ซึ่งต้องมองว่าเมื่อธรรมชาติอยู่ได้ แรงงานอยู่ได้ ผู้ประกอบการก็ต้องอยู่ได้ด้วย หากผลักดันให้กำหนดการจับสัตว์น้ำตามน้ำหนักออกมาจริง จะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างมาก เพราะหากทำประมงได้เพียง 3-6 เดือน เวลาที่เหลือต้องเสียเงินบำรุงรักษาเรือที่จอดอยู่เฉยๆ แรงงานไม่มีรายได้ และผู้ประกอบการก็อยู่ไม่ได้ด้วย
“ขณะนี้ตัวเลขนำเข้าสัตว์น้ำทะเลจากต่างประเทศ สูงถึง 2.1 ล้านตัน ขณะที่การจับสัตว์น้ำในประเทศมีเพียง 1.6 ล้านตัน มีการนำเข้ามากกว่าการจับสัตว์น้ำในประเทศมาก ซึ่งการนำเข้ามาไม่เพียงแต่เข้าโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังนำมาขายเป็นอาหารทะเลสดแข่งกับของภายในประเทศด้วย บางประเทศที่มีการนำเข้ามายังเป็นประเทศที่ติดใบแดง จึงมองว่าภาครัฐเอาจริงเอาจังกับคนไทยกันเอง แต่ทำไมจึงปล่อยให้นำเข้าจากประเทศที่ติดใบแดงได้ สิ่งที่รัฐต้องหันกลับมามอง และเร่งดำเนินการ คือ การซื้อเรือประมงคืนจากผู้ไม่ต้องการไปต่อ อย่างที่รัฐประกาศไว้ จะสามารถลดค่าเฉลี่ยการจับสัตว์น้ำและเกิดการอนุรักษ์ได้มากขึ้น รวมถึงควรหันกลับมาพูดคุย รับฟังเสียงชาวประมงมากขึ้นในทุกๆเรื่อง ที่จะออกมาบังคับใช้ ถึงบริบทและความเหมาะสม
การกำหนดโควต้าน้ำหนักการจับสัตว์น้ำ เป็นเรื่องของต่างประเทศที่มีการจับสัตว์น้ำเจาะจงชนิด แต่ประมงบ้านเราไม่เหมือนกัน อีกทั้งในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา การนำเข้ากลับไม่มีการจำกัด ส่งผลต่อราคาสัตว์น้ำในประเทศตกต่ำลง และวิกฤตโควิด-19 ยิ่งทำให้ราคาดิ่งลงไปอีก เราอยากเห็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด กฎหมายต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับประเทศของเรา ไม่ใช่ฟังเสียงจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่ให้ความสำคัญกับคนทำประมง” นายสมทรัพย์กล่าว และว่า
จากการสำรวจข้อมูลราคาสัตว์น้ำทะเลจากระนองที่ส่งออกไปขายยังตลาดมหาชัย ในช่วงเดือนที่ผ่านมาพบว่า ราคาหมึกหลอดกิโลกรัมละ 170-180 บาท ปลาทูกิโลกรัมละ 50-60 บาท แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศเมียนมาได้ประกาศปิดอ่าว ทำให้ไม่มีสินค้าทะเลนำเข้าจากประเทศเมียนมา ส่งผลให้ราคาอาหารทะเลพุ่งขึ้น โดยหมึกหลอดราคาเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 240-250 บาท ปลาทูกิโลกรัมละ 80-90 บาท สะท้อนให้เห็นว่า หากกำหนดการจับสัตว์น้ำด้วยโควต้าน้ำหนัก นอกจากส่งผลกระทบกับภาคประมงในประเทศโดยรวมแล้ว ผู้ได้ประโยชน์ คือ ผู้นำเข้าสัตว์น้ำทะเลจากต่างประเทศ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยต้องเดินทางไปเป็นลูกจ้างภาคประมงของประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องว่างงาน 6-8 เดือน