เปิดเบื้องหลัง สื่อลามกอนาจาร “เด็ก” เทคโนโลยี ด้านร้ายทำลายเด็ก

เปิดเบื้องหลัง สื่อลามกอนาจาร “เด็ก” เทคโนโลยี ด้านร้ายทำลายเด็ก

ประเทศไทย ถูกรายงานว่ามีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสัญชาติอเมริกัน เผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กมากเป็นอันดับ 3 ของโลก (National Centor for missing and Exploited Children-NCMEC) คิดเป็นร้อยละ 10 ของประเทศทั่วโลก โดยพบว่าเป็นการใช้งานผ่าน URL รองลงมาเป็นโทรศัพท์มือถือ และห้องแชตสนทนาออนไลน์ สอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่าเด็กไทยอายุระหว่าง 8-12 ปี มีโอกาสเสี่ยงภัยจากโลกออนไลน์ถึง 60% และพบว่าเด็กไทยมีความเสี่ยงอันดับต้นๆ ในการเข้าถึงสื่อลามก และถูกล่อลวง

ในยุคที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคม 5G เช่นทุกวันนี้ การจะก้าวให้ทันการทำอนาจารกับเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันภัยที่จะส่งผลกระทบต่อเด็ก สร้างบาดแผลให้กับจิตใจ ศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดสัมมนาสื่อมวลชนว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ ภายใต้โครงการพัฒนากลไกการขจัดสื่อร้ายและภัยออนไลน์ ที่ห้องประชุมรัชโยธิน โรงแรมเดอะบาซาร์

เปิดเวทีให้คนทำงาน นำเรื่องจริงของเด็กที่ถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศบนโลกออนไลน์ มากะเทาะเปลือก

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยว่า จากการทำงานที่ผ่านมา 100% เจ้าหน้าที่จะรู้ก่อนผู้ปกครองว่าเด็กถูกล่อลวงไปกระทำอนาจาร และต้องรู้สึกตกใจที่พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว อาชีพที่พบมากคือ ครูสอนภาษา นักดนตรี และนักบวช เคสหนึ่งเราพบคนที่บวชพระมานับ 10 ปี สึกมาเป็นครูสอนจริยธรรม เมื่อพ่อแม่เผลอแล้วถ่ายรูปเด็กขณะพาไปว่ายน้ำ นำออกไปเผยแพร่ แต่ในยุคปัจจุบันที่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีผลในชีวิตมาก คนพวกนี้ไม่จำเป็นต้องมีนกต่อ มาตีสนิทเด็ก แต่เข้าไปถึงห้องนอนของเด็กได้จากโซเชียลมีเดีย เข้าไปพูดคุย ตามใจ และดูว่าเด็กอยากได้อะไรก่อนจะเสนอเพื่อดึงดูดเด็ก บางคนอาจจะอยากเป็นนางแบบ อยากเล่นเกม ก็ใช้ตรงนี้หลอกล่อมาถ่าย หลังจากนั้นก็ใช้ภาพขู่

Advertisement

นอกจากนี้ ร.ต.อ.เขมชาติยังพูดถึงรูปแบบใหม่ๆ ของคนกลุ่มนี้ คือการหาคู่หญิงไทยที่เป็นม่ายลูกติด และแอบล่วงละเมิดเด็กๆ ที่เป็นลูก เมื่อเด็กเหล่านี้โตก็เลิกกับผู้หญิงไปหาครอบครัวใหม่ นอกจากนี้ยังใช้ความเป็นบุญคุณ เป็นพ่อดูแลครอบครัวมาเป็นจุดสำคัญ ทำให้เด็กไม่กล้าจะฟ้อง ที่พบเห็นมากคือการไลฟ์สตรีมมิ่ง ที่จะไม่เก็บหลักฐานไว้ เจ้าหน้าที่รู้ได้จากพฤติกรรมการโอนเงิน บางเคส ไลฟ์สตรีมจากฟิลิปปินส์ แล้วมีต่างชาตินั่งชมจากโรงแรมที่สุรวงศ์ ซึ่งเราต้องทำงานร่วมกันกับตำรวจประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนี เพื่อให้ช่วยเหลือเด็กได้รวดเร็ว

“จากข้อมูลเราพบว่าเด็กที่ถูกกระทำมีอายุลดลง เพียง 10-12 ปี พฤติกรรมรุนแรงมากขึ้น ผู้กระทำจากเคยพบอายุ 50 ปีขึ้น ก็น้อยลงและมีการทำเพื่อการค้ามากขึ้น 70-80% ของคนทำผิดมีรูปของเด็กในเครื่อง และการมีภาพเหล่านี้นับได้ว่ามีความเสี่ยงในการกระทำที่จะไปหาประโยชน์กับเด็ก และจากข้อมูลวิจัยยังพบว่า คนที่กระทำผิดกับเด็กแล้วนั้นไม่หายและกลับไปกระทำอีก หลายประเทศในยุโรป รวมทั้งออสเตรเลีย จึงมีกฎหมาย ห้ามคนเหล่านี้เข้าใกล้พื้นที่ที่จะถึงตัวเด็ก ทำให้คนพวกนี้ก็ไปใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่ไทยยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตามมีการร่างกฎหมายฉบับใหม่ ที่เข้าไปป้องกันเด็ก ตั้งแต่ถูกล่อลวง เช่นตั้งแต่แชต เพื่อไม่ให้เด็กถูกกระทำ” ร.ต.อ.เขมชาติเผย

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี

Advertisement

ขณะที่ พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ รองผู้บังคับการ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 เผยว่า หลายคนยังไม่รู้ตัวว่าการมีภาพลามกอนาจารของเด็กในโทรศัพท์ ผิดกฎหมายทั้งไทยและต่างชาติ ปัจจุบันมีการหลอกล่อบังคับให้เด็กต้องทำตามที่คนร้ายต้องการจนถลำตัว ถูกขู่ว่าถ้าไม่ทำจะเผยแพร่รูป เด็กไม่กล้าบอกผู้ปกครอง ต่างกับผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะมากกว่า บางรายที่ถูกหลอกมา ก็ยังถูกหลอกให้พาน้อง พาพี่ มาโดนกระทำอีกด้วย เมื่อเราจับคนร้ายได้ และเข้าไปดูข้อความแชตต่างๆ ก็พบว่าคนร้ายคนเดียวทำร้ายคนได้ถึง 200 ราย นับเป็นอันตรายต่อสังคม ในฐานะคนบังคับใช้กฎหมาย ต้องดูอย่างละเอียดให้ครอบคลุม ไม่ใช่แค่อนาจารเด็ก แต่ต้องดูว่าเข้าข่ายความผิดอื่นหรือไม่ หนักสุดคือการค้ามนุษย์ เพื่อไม่ให้คนร้ายกลับมากระทำได้อีก ซึ่งปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะแจ้งความ ทำให้ทำคดีได้ยาก

ด้านนักจิตวิทยาอย่าง นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิตและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เผยว่า การล่วงละเมิดทางเพศนั้นจะส่งผลกระทบต่อเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กที่มีความเปราะบาง เป็นคนหนีปัญหา หรือโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว อาจส่งผลได้มากกว่าเด็กที่มีคนรอบข้างคอยช่วยเหลือเขา เด็กหลายคนไม่กล้าบอกพ่อแม่ ขณะที่เด็กบางคนอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุ ที่ก็จะไม่เข้าใจเรื่องโลกออนไลน์ ผลกระทบในระยะสั้นนั้น จะทำให้เด็กมองโลกในแง่ร้าย กลัวที่จะกลับไปที่เดิมๆ สิ่งสำคัญคือต้องไม่กล่าวโทษเด็กซ้ำๆ และทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย นำเด็กออกมาอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เสี่ยงต่อการถูกกระทำซ้ำ

“สิ่งสำคัญคือ ยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล การนำเสนอข่าวบางครั้งอาทิตย์กว่าคนก็ลืม แต่กับเด็กและครอบครัวต้องอยู่กับสิ่งนั้นอีกนาน เหยื่อต้องกลับมาดูซ้ำๆ ยิ่งมีดิจิทัล ฟรุตพรินท์ สามารถหาอะไรได้ง่ายยิ่งส่งให้เขาดูซ้ำๆ กระทบซ้ำๆ หรือการเสพสื่อลามกอนาจาร โดยเฉพาะประเภทใช้ความรุนแรง จะทำให้เด็กเรียนรู้ความรุนแรงนั้น เห็นว่าโลกไม่สวยงามอย่างที่คิด และหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ จะทำให้เขาเกิดความชินชาและไปกระทำต่อคนอื่นต่อ อย่างเด็กประถมต้นบางคนที่ไปคุกคามทางเพศน้อง ไม่ใช่เพราะเขามีอารมณ์ทางเพศ แต่เขาเลียนแบบและคิดว่าทำได้” นพ.วรตม์เผย

ปิดท้ายด้วย ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ผอ.ศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม เผยว่า ปัจจุบันการแจ้งหลักฐานกับเจ้าหน้าที่ เพื่อเอาผิดผู้ก่อเหตุซึ่งยังไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์ ถ้ากระทำโดยสุจริต ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ถูกยกเว้นไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและอาญา เป็นเครื่องกำบังคุ้มกาย ขณะเดียวกัน หากมีการเเจ้งเบาะเเสที่สามารถจับคนร้ายในความผิดฐานค้ามนุษย์ คนเเจ้งยังได้เงินรางวัลในการเเจ้งเบาะเเสอีกด้วย เเต่การเเจ้งเบาะเเสเป้าหมายเพื่อให้ยุติการกระทำเเต่ไม่ควรเผยเเพร่ซ้ำ ถ้าเราช่วยเหลือคนละมือ จะทำให้ปัญหาลดน้อยลง ผู้เสียหายได้รับการเยียวยา สื่อมวลชนจะเป็นกระบอกเสียงที่ยุติความรุนเเรงเเละใช้สื่อได้อย่างสร้างสรรค์

สุมหัวคิดช่วย “เด็ก”

พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image