ของบพ.ร.ก.กู้เงินฟื้นฟูศก.กว่า 8.4 แสนล้าน ทะลุเพดาน 4 แสนล. หั่นทิ้งเกินครึ่ง

ของบพ.ร.ก.กู้เงินฟื้นฟูศก.กว่า 8.4 แสนล้าน ทะลุเพดาน 4 แสนล้านบาท กลั่นกรองลั่นหั่นทิ้งเกินครึ่ง

ภายใต้กรอบพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท งบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท พบว่ามีโครงการยื่นเสนอเข้ามา 34,263 โครงการวงเงิน 841,269 ล้านบาท คาดว่าจะต้องตัดทิ้งโครงการมากกว่าครึ่งที่เสนอเข้ามา

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเข้าไปตรวจสอบ http://nscr.nesdc.go.th/thaime/ พบว่า การของบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท ภายใต้กรอบพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ผ่านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ มีกำหนดปิดรับคำของบประมาณในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ซึ่งพบว่าตั้งแต่เปิดให้หน่วยงานต่างๆ ยื่นโครงการเข้ามาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน จนถึงวันที่ 12 มิถุนายน มีโครงการยื่นเสนอเข้ามา 34,263 โครงการวงเงิน 841,269 ล้านบาท

ทั้งนี้โครงการเสนอมามากสุด คือ แผนงานหรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน มีหน่วยงานต่างเสนอขอเข้ามา 33,798 โครงการ วงเงิน 465,023 ล้านบาท รองลงมาคือแผนงาน 3.1 การลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่ สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีหน่วยงานขอมา 164 โครงการ วงเงิน 284,302 ล้านบาท

Advertisement

เมื่อลองค้นหาโครงการพบว่ามีโครงการเกี่ยวข้องกับสร้างถนน กว่า 1.2 หมื่นโครงการ เกษตรกว่า 6 พันโครงการ ท่องเที่ยวชุมชน 2,800 โครงการ ประปากว่า 2.2 พันโครงการ พัฒนาแหล่งน้ำกว่า 1.2 พันโครงการ เกี่ยวกับไฟฟ้ากว่า 800 โครงการ จ้างงาน 100 โครงการ เศรษฐกิจพอเพียง 200 โครงการ

นอกจากนี้พบว่ามีโครงการขอใช้เงินภายใต้กระทรวงมหาดไทยกว่า 3 หมื่นโครงการ ซึ่งพบว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีคำขอสร้างถนน สร้างแหล่งน้ำ เข้ามาจำนวนมาก สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีคำขอเข้ามาประมาณ 800 โครงการ กระทรวงคมนาคมกว่า 700 โครงการ กระทรวงอุตสาหกรรม 70 โครงการ กระทรวงพาณิชย์ 30 โครงการ กระทรวงศึกษาธิการ 30 โครงการ กระทรวงสาธารณสุข 19 โครงการ กระทรวงการคลัง 2 โครงการ

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปิดรับโครงการฟื้นฟู ในวันที่ 15 มิถุนายน มีแนวโน้มอาจได้เห็นโครงการขอเข้ามาเกือบ 1 ล้านล้านบาท หลังจากนี้นำโครงการทั้งหมดเข้าสู่ชั้นคณะอนุกรรมการและกรรมการกลั่นกรองในช่วงวันที่ 15-30 มิถุนายน เพื่อนำเสนอไปยัง ครม.ภายในวันที่ 7 กรกฎาคม  เท่าที่ดูคำขอโครงการเข้ามาในขณะนี้คาดว่าจะต้องตัดทิ้งโครงการมากกว่าครึ่ง

Advertisement

ทั้งนี้สศช.มีหลักการในการพิจารณาคือ ต้องเป็นโครงการเน้นการฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังโควิด-19 โดยให้ความสำคัญต่อสาขา เศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงมีความได้เปรียบ และ ต่างประเทศยังมีความต้องการ เช่น เกษตรมูลค่าสูง เกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร Bioeconomy แหล่งและบริการท่องเที่ยวที่เน้น คุณภาพและยั่งยืน อุตสาหกรรมการให้บริการ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อ กิจกรรมและธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพและโอกาส เน้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้าง อาชีพ สามารถรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image