หอค้ากลาง เตือนสศช. รอบคอบผ่านงบฟื้นฟู แนะตอบโจทย์ลดยากจน-กระตุ้นศก.

ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีการยื่ยของบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาทภายใต้กรอบพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ผ่านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่กำหนดปิดรับคำขอใช้งบประมาณในวันที่ 15 มิถุนายน และที่ยื่นขอมากสุดในกลุ่มแผนงานหรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน กว่า 4.6 แสนล้านบาทแล้ว นั้น คงต้องรอดูการพิจารณาของสศช. ว่าจะสามารถตอบโจทย์ที่จะใช้งบประมาณเพื่อการบรรเทาและลดความเดือดร้อนประชาชน รวมถึงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากที่สุด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการโครงการอะไรแต่ต้องดูว่าโครงการเกิดการจ้างงานในระดับชุมชน ซึ่งบางส่วนที่ได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาทต่อเนื่อง 3 เดือนที่จะสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม จากนั้นอาจยังไม่มีรายได้หรือยังถูกเลิกจ้างก็ต้องหารายได้เพื่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัวต่อไป เงินที่ลงในส่วนนี้ก็จะช่วยได้มากหากมีการว่าจ้างแรงงานเหล่านี้ โดยไม่ควรกังวลว่าเป็นการเชื่อมถนนที่ขาดตอน 1-2 กิโลกรัม หรือ ทำท่าเรือ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เพราะขณะนี้เชื่อว่าอาจหวังการท่องเที่ยวจากต่างประเทศไม่ได้เต็มร้อยอย่างในอดีต แม้จะมีการส่งเสริมในเร็วๆนี้เพราะการระบาดของโควิด-19 วิถีการท่องเที่ยวเชื่อว่าเปลี่ยนไป ดังนั้น ต้องทำอย่างไรให้คนมีเงินใช้ประจำวันก่อนและกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนไทยด้วยกันเอง

” วิกฤตโควิดประเมินว่าจะมีผลต่อการจ้างงาน และการฟื้นเศรษฐกิจเหมือนปี 2562 คงต้องใช้เวลา 2-3 ปี ดังนั้นต้องรอบคอบ และจะทำอย่างไรให้ช่วงนี้คนมีรายได้ ก็อยากฝากให้สศช.รอบคอบในการดูโครงการพื้นฐานเฉพาะหน้าก่อน ส่วนโครงการพื้นฐานระยะกลางหรือใหญ่ที่ตกไปจากงบประมาณปกติแล้วนำมาแทรกไว้ก็ควรให้รอไปก่อนและใช้งบประมาณปกติแทนดีกว่า และอยากให้ดูว่างบที่จ่ายไปนั้นกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากที่เคยเป็น อย่างอดีต มองว่าใช้งบรัฐไป 100 บาท แต่ได้คืนสู่เศรษฐกิจผ่านการค้า บริการ หรือท่องเที่ยว 10-20 บาท ก็ให้เพิ่มเป็น 30-40 บาทแทน ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิดจะทำให้วิถีเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม ดั้งนั้นแต่ละโครงการที่เห็นชอบต้องตอบโจทย์ได้ตรงกับสถานการณ์เพื่อการฟื้นฟูรายได้และพยุงไม่ให้เกิดการตกงานหรือพยุงเศรษฐกิจไม่ได้ตกไปกว่านี้ รวมถึงจุนเจือภาคเกษตร ที่เป็นหลักของประเทศด้วย ” ว่าที่ร.อ.จิตร์ กล่าว

ว่าที่ร.อ.จิตร์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้หอการค้าไทยได้รวบรวมส่งถึงรัฐบาลแล้วว่ามีโครงการและกลุ่มใดที่รัฐต้องเข้ามาดูแลและเร่งใช้งบประมาณช่วยเหลือ จากนี้ที่รัฐต้องดูแลด้วยคือข้าราชการขั้นผู้น้อย ให้คงอัตราจ้างและรายได้ไม่ให้ลดลง และเข้มงวดต่อมาตรฐานการดูแลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างให้กับมาระลอก 2 ซึ่งเอกชนก็ยังห่วงหลังเปิดทั้งหมดในเดือนกรกฎาคมและเกิดการระบาดในรอบ 2 อาจวุ่นวายมาก เพราะอาจต้องล็อกดาวน์อีกครั้งไม่รู้นานแค่ไหน ระบาดวงกว้างและเป็นเวลาเท่าไหร่ ที่สำคัญรัฐจะมีงบประมาณที่เพียงพอจากไหนมาดูแล

” อย่างการเปิดเรียนในเดือนกรกฎาคม ตอนนี้ทางจังหวัดก็มีการพูดคุยกันว่า จะดูแลกันอย่างไร หากเด็กเล็กมีไข้ขึ้นสูง พร้อมกันจำนวนมาก โรงเรียนจะดูแลและปฎิบัติอย่างไร ให้ทันท่วงที ต่างจากแง่ธุรกิจเมื่อเกิดปัญหาก็สั่งปิดได้เลย มีหลายเรื่องที่ทางปฎิบัติหลังปลดล็อกแล้วต้องรีบเคลียร์และทดลองการแก้ปัญหาเสมือนจริงไว้ด้วย” ว่าที่ร.อ.จิตร์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image