สถานีคิดเลขที่ 12 : พลังทางสังคม : โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : พลังทางสังคม : โดย ปราปต์ บุนปาน

ดูเหมือนสังคมไทยกำลังต้องการ “กลุ่มทางสังคม” ที่มีจุดประสงค์ในการรวมตัวเพื่อสร้างวาระทางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองชนิดใหม่ๆ

สืบเนื่องมาจากเหตุผลใหญ่ๆ สองประการ

ประการแรก ข่าวคราวการเสียชีวิตของบุคคลสำคัญในแวดวงต่างๆ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา บ่งชี้ให้พวกเราตระหนักว่าสำหรับบรรดาคนมีชื่อเสียงที่เลือกข้าง/ถูกแปะป้ายให้มีสังกัดทางการเมืองอย่างชัดเจน ณ ช่วงประมาณทศวรรษสุดท้ายของชีวิต (อันเป็นห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมืองพอดี)

Advertisement

ราคาที่พวกเขาต้องจ่ายเมื่อยามอำลาจากโลกใบนี้ไป ก็คือการมีผู้รำลึกถึงในฐานะฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ผ่านความทรงจำบาดแผล ที่อย่างไรเสียก็ชำระลบล้างไม่ออก ไปพร้อมๆ กับการมีคนรำลึกถึงด้วยความยกย่องชื่นชมและเศร้าโศกเสียใจ

ปรากฏการณ์ทำนองนี้แสดงให้เห็นว่าสังคมการเมืองไทยยังคงมีความขัดแย้งร้าวลึก ยังมีการแบ่งข้าง-แบ่งครึ่งกันอย่างชัดเจน

การเฝ้ารอให้คนที่มีส่วนในความขัดแย้งค่อยๆ ทยอยจากไปจนหมดรุ่น คงต้องใช้เวลายาวนานอีกนับทศวรรษ และย่อมไม่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาใดๆ

Advertisement

ขณะเดียวกัน ถ้าความร้าวฉานแตกแยกยังเป็นอารมณ์ความรู้สึกหลักที่คอยกำหนดความคิด-การกระทำของผู้คนต่อไปเรื่อยๆ การสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม ก็มีโอกาสจะประสบความสำเร็จน้อยมาก (ผิดกับการมุ่งทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่มักปรากฏภาพแจ่มชัดกว่าในจินตนาการทางการเมืองของทุกฝ่าย)

ประการต่อมา หลังการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ค่อยๆ สงบลง แทบทุกฝ่ายล้วนคาดคะเนได้ว่าประเทศไทยกำลังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการเมือง

โดยที่เม็ดเงิน 1.9 ล้านล้านบาท อาจแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนได้ไม่ถ้วนทั่ว

และแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไปได้โดยราบรื่น พรรคพลังประชารัฐสามารถปรับดุลอำนาจภายในได้จนเข้ารูปเข้ารอย พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ยังยอมเดินตามผู้นำไม่เปลี่ยนแปร เช่นเดียวกับการดำรงอยู่ของ 250 ส.ว. และความอ่อนแอ (ทั้งโดยตัวเองและปัจจัยภายนอก) ของนักการเมืองฝ่ายค้าน

แต่ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพียงการรับประกันว่าผู้ถือครองอำนาจรัฐจะยังไม่เปลี่ยนหน้า-เปลี่ยนมือ มิได้รับประกันว่าสถานะทางการเมืองที่เข้มแข็งดังกล่าว นั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะรับมือวิกฤตซึ่งอาจถาโถมเข้ามาในอนาคตอันใกล้

เมื่อ “การเมืองในระบบ” ตอบโจทย์อนาคตได้ไม่น่าพอใจ

ภาพความเคลื่อนไหวของ “คณะก้าวหน้า” และ “กลุ่ม CARE” จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ

ภารกิจเบื้องต้นของ “กลุ่มทางสังคม” เหล่านี้ คือ การทดลองเสนอวิธีการมองปัญหา, วิธีการแก้ปัญหา, รูปแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจ และจินตนาการแบบ “ใหม่ๆ” ให้แก่สังคมไทย

แม้กระทั่งในฝักฝ่ายทางการเมืองที่ถูกนิยามว่า “อนุรักษนิยม” ก็อาจจำเป็นต้องจัดสร้าง “กลุ่มทางสังคม” เช่นนี้ขึ้นมา (เพราะที่มีอยู่นั้นยังวางตัวอยู่บนเงื่อนไขความขัดแย้งเดิม ไม่ได้ตอบโจทย์ใหม่ๆ)

โจทย์ที่ “กลุ่มทางสังคม” ต่างๆ กำลังร่วมกันคลี่คลาย อาจเป็นชุดปัญหาซึ่งสังคมไทยยุค2540 เคยเผชิญ ในเวอร์ชั่นที่ทวีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น

ถ้าโครงสร้าง-กฎกติกาทางการเมืองปัจจุบัน ประคับประคองประเทศต่อไปไม่ไหว เราจะแก้ไขความติดขัดนี้อย่างไร? ด้วยรัฐธรรมนูญ (ทั้งฉบับลายลักษณ์อักษรและฉบับวัฒนธรรม) แบบไหน?

ถ้าเศรษฐกิจระดับฐานรากทรุดหนักจนพังทลาย อะไรคือ “ทางเลือกใหม่” ทั้งในเชิงปฏิบัติการจริงและในเชิงอุดมการณ์ที่จะเกิดขึ้น?

แน่นอน เราต้องการ “พลังทางสังคม” ที่จะเดินหน้าเคลื่อนตัวไปจากความขัดแย้งตลอดช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา แต่คงไม่สามารถก้าวข้ามความอยุติธรรมทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้

ต้องยอมรับว่า ณ สภาวการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีใครมองเห็นหนทางสำเร็จลุล่วงของภารกิจดังกล่าว

แต่ความพยายามจะช่วยแสวงหาทางออกให้ประเทศ ก็ยังดีกว่าการอยู่นิ่งเฉยโดยไม่ยอมลงมือทำอะไร

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image