ผลกระทบลูกโซ่ ความเครียดในเด็ก

ผลกระทบลูกโซ่ ความเครียดในเด็ก

จากรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิดจากงานวิจัยในหลายประเทศพบว่า “กลุ่มโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย” (NCDs) อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเส้นเลือดสมอง คือ “กลุ่มเสี่ยง” ที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งระบาดอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ และเมื่อได้มีการศึกษาย้อนหลัง พบว่าความเสี่ยงนี้เกิดจากการสะสมระดับความเครียดที่ผิดปกติ ตั้งแต่ในวัยเด็ก (Toxic Stress) ไปจนถึงการมีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Childhood Trauma) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในวัยผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ภาวะผันผวนของเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ในโลกยุคดิสรัปชั่น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสถานะครอบครัว โดยพบว่าเด็กในช่วง 6 ปีแรกที่เติบโตมาในภาวการณ์ที่ไม่เหมาะสม ได้รับประสบการณ์ที่เลวร้าย หรือ Adverse Childhood Experiences อาทิ พ่อแม่ตีกัน ติดคุก ติดยา แตกแยก เป็นโรคจิตหลุด หรือว่าพ่อแม่เลี้ยงดูไม่เหมาะสม ทำร้ายทางอารมณ์ ทอดทิ้งทางอารมณ์ ทำร้ายร่างกาย และทำร้ายทางเพศ

รวมทั้งถูกกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม จนก่อให้เกิดระดับความเครียดเป็นพิษ หรือ Toxic Stress เด็กเหล่านี้จะได้รับผลกระทบ โดยเติบโตมามีพัฒนาการที่ล่าช้า มีผลการเรียนแย่ มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนในวัยรุ่น จนกลายเป็นปัญหาการเกิดโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย (NCDs) ในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบัน นำมาสู่ปัญหาสาธารณสุข และพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่

สำหรับวิธีการป้องกันในระดับทั่วไป “ไม่ให้เกิดบาดแผลทางใจ” คือ การลดความเสี่ยง ตั้งแต่ก่อนจะตัดสินใจอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว การเตรียมพร้อมในการตั้งครรภ์ และการเป็นพ่อแม่ที่ดี เรียนรู้วิธีที่จะทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในระยะยาว เมื่อเกิดปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข แล้วไปสร้างครอบครัวใหม่ ลูกหลานที่เกิดจากครอบครัวใหม่นี้ก็จะได้รับการถ่ายทอดให้ได้รับผลกระทบในแบบเดียวกัน

Advertisement

เป็นโลกผันผวนที่เกิดจากภาวการณ์บาดเจ็บทางใจของเด็ก

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image