โฉมใหม่ใน 2 ทศวรรษ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สยามสแควร์ บนความท้าทายแห่งยุคนิว นอร์มอล

โฉมใหม่ใน 2 ทศวรรษ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สยามสแควร์ บนความท้าทายแห่งยุคนิว นอร์มอล
วิมลพรรณ คำประชา

แผ่นหินอ่อนขนาดใหญ่ดูโอ่อ่า สลักเสลาตัวอักษรภาษาอังกฤษอย่างโดดเด่น

เพดานสูงโปร่งสบายตา ตกแต่งด้วยวัสดุโทนสีหวานโทนชมพูอมทองอย่าง rose gold ซึ่งมอบความรู้สึกหรูหรา มีสไตล์เฉพาะตัว

คาเฟ่เล็กๆ บนชั้นลอย พร้อมเสิร์ฟเครื่องดื่มหลากหลายท่ามกลางอุณหภูมิเย็นฉ่ำ ชวนให้ผ่อนคลาย มองเห็นชั้นหนังสือวางเรียงรายอยู่เบื้องล่างพร้อมด้วยภาพของนักอ่านที่ต่างง่วนกับการหยิบจับเล่มโปรดที่กำลังตามหา

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่คำบรรยายถึงมุมใดมุมหนึ่งของห้างสรรพสินค้าหรูกลางกรุง หากแต่เป็นบรรยากาศของ “ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” สาขาสยามสแควร์ ในโฉมใหม่หลังการรีโนเวทครั้งใหญ่นับแต่เปิดให้บริการในชั้น G ของอาคารวิทยกิตติ์ มานานกว่า 2 ทศวรรษ

Advertisement

“สิ่งที่เขาคอมเมนต์คือ ‘ความว้าว’ ถามว่านี่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ หรือห้างสรรพสินค้า เพราะมีความสะดวกสบายแต่ก็ยังคงความครบถ้วนหลากหลาย หาของง่ายขึ้น มีจุดต่างๆ ให้ได้ใช้บริการ เป็นความเปลี่ยนแปลงจาก 20 ปีที่แล้ว”

คือคำบอกเล่าพร้อมรอยยิ้มผ่านเฟซชิลด์ของ วิมลพรรณ คำประชา กรรมการผู้จัดการ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ผู้เข้ามารับไม้ต่อของภารกิจสำคัญในการดูแลแหล่งความรู้ในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาเก่าแก่ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ดูแลศูนย์ทั่วประเทศ ทั้ง 6 สาขาในกรุงเทพฯ 6 สาขาในส่วนภูมิภาค อีกทั้ง 6 เครือข่ายในจังหวัดต่างๆ

นับเป็น 8 เดือนแห่งความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับโฉมลุคใหม่ในสาขาสยามสแควร์ ไปจนถึงการร่วมฝ่าฟันสถานการณ์โควิดที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราวในช่วงหนึ่ง ก่อนกลับมาเปิดประตูต้อนรับผู้คนอีกครั้งอย่างเคร่งครัดในมาตรการสกัดไวรัสร้าย เพื่อความปลอดภัยของทั้งลูกค้าและบุคลากร

Advertisement

ป้ายไฟ CHULA BOOK ที่สอดแทรกสัญลักษณ์ Infinity สื่อความหมายถึงการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด คืออีกหนึ่งจุดเช็กอินที่พลาดไม่ได้ในช่วงเวลานี้ เพราะไม่ว่าไวรัสสายพันธุ์ใด ก็หยุดการเรียนรู้ของมนุษยชาติไม่ได้

ลุคใหม่ในความ ‘ว้าว’ ยังครบถ้วนทุกแง่มุมแห่งการเรียนรู้

วิมลพรรณ “เอ็มดี” ในยุค “นิว นอร์มอล” เริ่มต้นเล่าถึงแนวคิดในการเนรมิต
ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สาขาสยามสแควร์แห่งนี้ว่า โจทย์ใหญ่ของการปรับปรุงคือ “แอร์ไม่เย็น” อาจฟังดูเป็นปัญหาง่ายๆ ทว่า แท้จริงแล้วคือโจทย์ใหญ่เพราะต้องแก้ทั้งระบบ นอกจากนี้ ยังต้องการปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้โปร่ง โล่ง สบาย แต่ยังคงไว้ซึ่งความครบถ้วนของสินค้าเพื่อการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย สมกับการเป็น “ศูนย์หนังสือ” ไม่ใช่เพียง “ร้านหนังสือ” เท่านั้น

“จะเห็นว่า เราไม่เรียกว่าเป็นร้านหนังสือ แต่เรียกว่าเป็นศูนย์หนังสือ ซึ่งต้องเป็นความครบถ้วนหลากหลาย มาที่นี่ได้ครบหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ อุปกรณ์การเรียนรู้ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการศึกษา พอตีโจทย์ออกมา ก็ให้ภาพคร่าวๆ โจทย์ใหญ่คือการรื้อท่อแอร์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก และเนื่องจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ สาขาสยามสแควร์ เป็นสาขาใหญ่ที่สร้างรายได้หลักให้กับศูนย์หนังสือ จึงให้เวลาการรีโนเวทได้แค่ 120 วัน ก็เป็นความท้าทายของผู้รับเหมาว่าจะทำอย่างไรให้เสร็จทันเวลา เพราะในแต่ละวัน คือการสูญเสียรายได้ จึงใช้วิธีปิดส่วนหนึ่งเพื่อปรับปรุง อีกส่วนหนึ่งให้บริการ เราวางแผนปรับปรุงในช่วงวันที่ 18 มกราคม-18 พฤษภาคม ปรากฏโควิดมาพอดี แต่ทำได้แค่ช่วงกลางวัน เพราะติดเคอร์ฟิว อย่างไรก็แล้วแต่ ทั้งความเก่งของผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาและทีมผู้ควบคุมงาน สามารถดำเนินการและทำให้เสร็จภายในเวลา 4 เดือนเป๊ะ ออกมาได้อย่างที่ต้องการ”

เล่ารายละเอียดพลางพาเดินชมบรรยากาศที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย แต่พิถีพิถัน ที่สำคัญคือการคงเอกลักษณ์ของ “จุฬาฯ” ด้วยสีประจำมหาวิทยาลัยอย่างสีชมพู โดยปรับโทนให้หรู สบายตา ดังที่กล่าวมาข้างต้น

“สิ่งที่เราเปลี่ยนนิดหนึ่งคือ สีชมพู โดยนำสีชมพูของจุฬาฯ กับความเลอค่าของสีทองผสมกัน เป็นสี rose gold ได้ทั้งเอกลักษณ์และความหรูหราให้สมกับความเป็นจุฬาฯ และโปร่งสบายมากขึ้น ด้วยความที่ศูนย์หนังสือสาขาสยามสแควร์อยู่ลึกเข้ามาข้างใน ตัวอาคาร ทางเข้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดผู้คน ภายในร้าน ต้องดูโล่ง โปร่ง สว่าง เรียบแต่ดูดี ดึงความเป็นธรรมชาติจากสวนด้านข้างอาคาร ลดความแข็งของพื้นที่สี่เหลี่ยมของชั้นวางหนังสือแน่นๆ ที่ต้องมี เพื่อให้คงเอกลักษณ์ของแหล่งเรียนรู้ที่ครบถ้วนหลากหลาย สมกับสโลแกน นึกถึงหนังสือ นึกถึงศูนย์หนังสือจุฬาฯ”

อีกหนึ่งมุมที่ครีเอทขึ้นใหม่ ขึ้นป้ายไฟสีชมพูสดใสว่า “CHULA Book Club” มีบันไดวนมุ่งสู่ชั้นลอยซึ่งเดิมเป็นห้องเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ เมื่อรีโนเวทใหม่จึงถูกปรับเป็นมุมอบอุ่นให้นั่งพักผ่อนสบายๆ จิบเครื่องดื่มเย็นใจ พูดคุยถึงหนังสือเล่มโปรด

“ฬ Book Club คือสิ่งที่คิดไว้ว่าในพื้นที่ซึ่งได้เพิ่มขึ้นมานี้ จะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์กับทั้งพันธมิตร ลูกค้าและสมาชิก จึงสร้างมุมอบอุ่นสบายๆ สำหรับคนที่สามารถนั่งชิลๆ ได้ นั่งรอคุณพ่อคุณแม่คุณลูกได้ และถ้าปลอดโควิดแล้ว จะมีกิจกรรมที่ใช้มุมนี้ต้อนรับแขก”

เข้มทุกบรรทัด ‘การ์ดไม่ตก’ ทุกตารางนิ้ว

แน่นอนว่า อีกหนึ่งประเด็นสำคัญในยุคโรคระบาดที่แม้เริ่มผ่อนคลายแต่ “การ์ด” ไม่อาจตกได้ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ก็มีมาตรการเคร่งครัดตั้งแต่บันไดก้าวแรก กระทั่งประตูทางเข้า จนถึงทุกตารางนิ้วของพื้นที่ ด้วยความใส่ใจต่อสังคมทุกภาคส่วน ซึ่งบุคลากรของศูนย์หนังสือฯต่างร่วมกันปรับตัวในชีวิตวิถีใหม่ เช่นเดียวกับผู้เข้าใช้บริการที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

“พอโควิดมา ผู้บริหารศูนย์หนังสือจุฬาฯซื้อหน้ากากอนามัยแจกพนักงานทุกคน ย้ำว่าต้องดูแลตัวเองเพราะเรามีความรับผิดชอบต่อลูกค้า นี่คือวินัย และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ มีการดำเนินตามมาตรการของมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนี้ภายในยังปิดทำการ แต่ทางศูนย์หนังสือฯ ซึ่งอยู่ภายนอก ทำงานสลับเป็น 2 กะ ส่วนหนึ่ง work from home คือ ทำงานจากบ้าน อีกส่วนหนึ่งให้บริการลูกค้า รวมถึงในส่วนการขายออนไลน์และคอลเซ็นเตอร์

“ด้านหน้าศูนย์หนังสือฯเรามีโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ดูแลใส่ใจเพื่อความปลอดภัยกันและกัน ความหมายคือทั้งพนักงานและลูกค้า มีการตรวจวัดไข้ มีเจลแอลกอฮอล์ให้และติดเทปกาวที่พื้นกำหนดระยะห่างทางกายภาพ พนักงานใส่เฟซชิลด์ แคชเชียร์ใส่ถุงมือ ลูกค้าให้ความร่วมมือสแกนแอพพ์ไทยชนะ ตอนนี้คนไทยมีวินัยสูง กลายเป็นนิว นอร์มอล

ตอนที่ศูนย์หนังสือฯปิด ลูกค้าโทรเข้ามาถามตลอดว่าจะเปิดบริการเมื่อไหร่ พอเปิดปุ๊บก็กลับมาใช้บริการ ได้รับการตอบรับดีมาก สิ่งที่ดีใจคือ พอปรับโฉมใหม่ ไม่ต้องหาหน้าม้ามาคอมเมนต์เลย คนว้าวกันมาก” วิมลพรรณเล่าอย่างภาคภูมิใจ

ถามถึงการช้อปปิ้งหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีบทบาทมากในยุคโควิด ได้คำตอบว่า ช่วงปิดศูนย์หนังสือฯ จากวิกฤตโควิด ยอดขายออนไลน์สูงขึ้น ทั้งการซื้อทางไลน์ เฟซบุ๊ก และซื้อผ่านเว็บไซต์ แต่ก็ไม่เท่ากับการได้เปิดร้าน ซึ่งลูกค้าต่างนับวันรอคอย การันตีได้จากตัวเลขผู้สแกนแอพพ์ไทยชนะเข้าเลือกซื้อหาหนังสือในสาขาสยามสแควร์เฉลี่ยวันละ 1,000-1,500 ราย ซึ่งไม่ต่างจากช่วงก่อนการเดินทางมาของโควิดมากนัก

“กลุ่มลูกค้าหลัก จริงๆ แล้วหลากหลาย แต่ยอดอันดับหนึ่ง เป็นคู่มือสอบ และตำราเรียนแสดงว่าส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา ช่วงโควิด สิ่งที่ขายออนไลน์อันดับหนึ่งก็ยังเป็นคู่มือสอบ รวมถึงความรู้ทั่วไปและจิตวิทยาก็ขายดี รายชื่อหนังสือของเราทั้งหมดมีประมาณ 1 แสน SKU (Stock Keeping Unit)
ปริมาณหนังสือในแต่ละพื้นที่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม สยามสแควร์เป็นสาขาที่เป็นศูนย์กลางที่รวมหนังสือทั้งหมด และเป็นแหล่งที่เราสามารถให้บริการได้ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าลูกค้าจะซื้อทางคอลเซ็นเตอร์ ทางโซเชียล และไลน์ แต่ละสาขา ถ้าขาด สาขาสยามสแควร์จะสามารถโอนส่งให้ลูกค้าได้” หัวเรือใหญ่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ อธิบาย

‘จัตุรัสจามจุรีบุ๊คแฟร์’ อีเวนต์ใหญ่ในยุคโควิด

ความท้าทายที่ต้องผนึก ‘พันธมิตร’

และความหวังจะได้แรงสนับสนุนจากภาครัฐ

มาถึงเรื่องราวของกิจกรรมน่าสนใจซึ่งศูนย์หนังสือจุฬาฯ เคยจัดให้นักอ่านได้มีส่วนร่วมอย่างคึกคักเป็นประจำทุกปี ทว่า เมื่อโลกมีไวรัสที่ยังปราศจากวัคซีน การจัดอีเวนต์ที่รวมมวลชนคนรักหนังสือจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์

“ทุกปีเราจะมีกิจกรรมในช่วงเดือนสิงหาคม คือ จัตุรัสจามจุรีบุ๊คแฟร์ ร่วมกับพันธมิตรต่างๆ รวม 17 วัน ซึ่งคราวนี้กำหนดไว้วันที่ 28 สิงหาคม-13 กันยายน ปีนี้จะยังคงจัด แต่กิจกรรมบนเวทีอาจเปลี่ยนแปลงไป นี่คือความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง

จากวันนี้ นับไปอีก 2 เดือนข้างหน้าก็ยังเป็นระยะเวลาที่ถึงแม้ตอนนั้นอาจผ่อนคลายแล้ว แต่มองว่าต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ๆ สำหรับรูปแบบเดิม ในวันเปิดงานจะมีสำนักพิมพ์และดารามาร่วมงาน สื่อมวลชนแน่นมาก แต่ตอนนี้คงต้องเปลี่ยน แต่จะไลฟ์เปิดตัวผ่านเฟซบุ๊กหรืออย่างไร ต้องพูดคุยกับพันธมิตรให้ร่วมกันช่วยคิดว่าแทนที่ทุกคนจะต้องมารวมตัวกัน ก็อาจให้สำนักพิมพ์ที่มาร่วมกิจกรรมไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กในแต่ละบูธ อาจมีวิทยากร นักเขียนมาที่บูธ แล้วไลฟ์ หรือทำเป็นคลิป ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการวางแผน เพราะเรายังไม่รู้ว่าจะเกิดการระบาดระลอก 2 หรือเปล่า” วิมลพรรณเปิดใจอย่างตรงไปตรงมา ก่อนกระซิบว่า ในงานจัตุรัสจามจุรีบุ๊คแฟร์ซึ่งจัดมาแล้วถึง 11 ครั้ง หนังสือของ สำนักพิมพ์มติชน ขายดีมาก

“ปีที่แล้ว คึกคักมากเพราะภาครัฐมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ “ช้อปช่วยชาติ” สินค้าการศึกษาและหนังสือ ปีนี้ก็หวังว่า นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว รัฐบาลคงไม่ลืมวงการหนังสือเพราะเป็นพื้นฐานการศึกษาของชาติ”

ต้องบอกว่า งานจัตุรัสจามจุรีบุ๊คแฟร์ ขาดมติชนไม่ได้ ขายดีเป็นอันดับต้นๆ เลย ตัวเองก็เป็นแฟนคลับของมติชน ที่อ่านประจำคือ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เพราะโตมากับคุณพ่อคุณแม่ และพี่สาวที่ชอบอ่านหนังสือ (ยิ้ม)”

จับมือ สสวท. ความภูมิใจบนหน้ากระดาษ

สู่การศึกษาชาติที่ไม่อาจหยุดพัฒนา

อีกประเด็นไม่ถามไม่ได้ ทั้งในฐานะผู้อ่านที่เติบโตมาในยุคตัวอักษรบน “กระดาษ” และในฐานะกรรมการผู้จัดการอาณาจักรหนังสือ มีการวางแผนอนาคตของศูนย์หนังสือจุฬาฯอย่างไร ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงไปตามการสไลด์หน้าจอสมาร์ทโฟน

วิมลพรรณมองว่า การทำงาน “คู่ขนาน” คือคำตอบ เพราะเชื่อว่าหนังสือยังคงมีเสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย แม้จะมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เป็นทางเลือก

“ศูนย์หนังสือจุฬาฯทำงานคู่ขนานไปทั้งออนไลน์และออนกราวด์ เราคิดว่าเสน่ห์ของหนังสือยังอยู่ในใจของคน ในการได้สัมผัส ได้กลิ่นอาย ได้บรรยากาศของการเลือกซื้อจากบนชั้น เพราะฉะนั้นคิดว่าศูนย์หนังสือฯยังสามารถเติบโตไปต่อได้ และเราต้องสนับสนุนผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม”

ปิดท้ายด้วยคำถามถึงความภาคภูมิใจในชีวิตการทำงานที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ คำตอบที่ได้ ไม่ใช่ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน หากแต่เป็นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของชาติ

“ย้อนหลังไปในปี 2561 มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้ามาทดสอบการทำงานของศูนย์หนังสือจุฬาฯ จนเป็นที่พอใจแล้วจึงเข้ามาติดต่อแบบเป็นทางการ จุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาเรื้อรังของการผลิตและส่งหนังสือให้ทันใช้ในการเรียนการสอน จึงเป็นจุดเริ่มทำให้เกิดโครงการความร่วมมือในการผลิตและจำหน่ายหนังสือเรียนโดยได้ลิขสิทธิ์จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

“ในปีแรกยังเป็นการทดลอง ดำเนินการในส่วนหนังสือใหม่ 8 ปก เป็นหนังสือใหม่ที่ไม่เคยจัดพิมพ์มาก่อน ไม่ซ้ำซ้อนกับตลาดเดิม ผลงานเป็นที่ยอมรับ และในปี 2562 ได้พิมพ์และจำหน่ายในระดับมัธยมรวม 42 ปก ประเมินผลจากหน่วยงานกลางอยู่ในระดับดี จึงได้ดำเนินการต่อจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 3 เป็นโอกาสและความภาคภูมิใจขององค์กรที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการศึกษาของชาติ ทำให้นักเรียนได้มีหนังสือเรียน ครูก็มีหนังสือสอน นอกจากนี้เรายังได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอีบุ๊คของ สสวท.ทั้งหมด ในราคาย่อมเยา สามารถสั่งซื้อได้จากเว็บ chulabook.com เป็นสินค้าขายดีอยู่บนเว็บในขณะนี้”

นี่คือส่วนหนึ่งในเรื่องราวของศูนย์หนังสือจุฬาฯ ลุคใหม่ ที่ยังคงมากมายด้วยความรู้ทุกแขนงบนหน้ากระดาษ บนเส้นบรรทัด บนหมึกพิมพ์ในทุกตัวอักษรเฉกเช่นที่เคยเป็นมา

‘นึกถึงหนังสือ นึกถึงศูนย์หนังสือจุฬาฯ’

45 ปีแห่งความภาคภูมิ

ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2518 ใต้อาคารเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้บริการนิสิตและคณาจารย์จุฬาฯ

จากวันนั้นจนถึงวันนี้นับเป็นเวลา 45 ปีของแหล่งเรียนรู้แห่งนี้

อีก 2 ปีนับจากวันก่อตั้ง มีการเปิดดำเนินการ “อย่างเป็นทางการ” อีกครั้งในวันที่ 26 มีนาคม 2520

7 ตุลาคม 2526 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดศูนย์หนังสือจุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยวเป็นแห่งแรก ให้บริการตำราเรียน หนังสือภาษาไทยและต่างประเทศ สื่อสร้างสรรค์ ซีดี-รอม วีดิทัศน์ เครื่องเขียน แผนกบริการตำราและห้องสมุด แผนกขายส่ง นับเป็นการเริ่มต้นอย่างมั่นคงในวงการธุรกิจหนังสือ

26 มีนาคม 2532 อาคารแว่นแก้วถือกำเนิดที่จุฬาลงกรณ์ ซอย 9 เป็นที่ทำการฝ่ายสารสนเทศ บัญชี คลังสินค้า และศิลปกรรม เป็นความภาคภูมิใจในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับพระราชทานนามแฝงในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯเป็นชื่ออาคาร

26 มีนาคม 2540 เปิดสาขาสยามสแควร์ นับเป็นก้าวแรกของศูนย์หนังสือจุฬาฯ ในการให้บริการนอกรั้วมหาวิทยาลัย

28 สิงหาคม 2551 เปิดสาขาจัตุรัสจามจุรี ในอาคารจามจุรีสแควร์ชั้น 4 โดยมีการปรับโฉมใหม่ให้ทันสมัยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562

4 กรกฎาคม 2556 ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยว เปิดสาขาย่อยที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

23 มีนาคม 2558 ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยว ปรับโฉมใหม่ให้สอดคล้องยุคแห่งเทคโนโลยี

8 เมษายน 2560 เปิดสาขาหัวหมาก พร้อมศูนย์กระจายสินค้า

พ.ศ.2563 สาขาสยามสแควร์รีโนเวทครั้งใหญ่

เปิดให้บริการจันทร์-ศุกร์ 09.00-20.00 น. เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 08.30-20.00 น.

ศูนย์หนังสือจุฬา ยังมีแผนกคอลเซ็นเตอร์ โทร 0-2255-4433,08-6323-3703-4

อีเมล์: [email protected]

เฟซบุ๊ก : Chulabook www.chulabook.com

ไลน์ @Chulabook

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image