สกู๊ป หน้า1 : ชาวแพร่ทวงคืน ‘บ้านเขียว’131 ปี บอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง

อาคารเขียว บ้านเขียว หรือตึกเขียว ภายในสวนรุกขชาติเชตวัน อ.เมืองแพร่ ที่ชาวบ้านเรียกขานและเห็นกันมาจนชินตา อดีตเคยเป็นสำนักงานบริษัทสัมปทานทำไม้ บอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้งŽ

นอกเหนือทรงคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมแล้ว ยังบอกเล่าประวัติศาสตร์การทำไม้ของ จ.แพร่ นับย้อนไปกว่า 131 ปี

จนเมื่อสัมปทานป่าไม้ของบริษัทสิ้นสุดลง ตัวอาคารและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตกเป็นของรัฐบาล เพื่อคนรุ่นหลังได้ศึกษา

ขณะนี้กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์เมื่อปรากฏภาพบ้านเขียวถูกรื้อลงมาพังราบ

Advertisement

หลายองค์กรภาคเอกชนรวมตัวกันพยายามสืบค้นข้อเท็จจริงของการรื้อถอน

การรื้อถอนเกิดขึ้นได้อย่างไรกับอาคารที่ควรอนุรักษ์ไว้หลังนี้

และหากเป็นการรื้อเพื่อประกอบใหม่ตามกระบวนการอนุรักษ์ วิธีการดังกล่าวถูกต้องเป็นไปหลักวิชาการแล้วหรือไม่

Advertisement

ธีรวุฒิ กล่อมแล้ว สถาปนิกและประธานภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ กล่าวว่า การที่จะรื้อถอนอาคารหรือปรับปรุงโครงสร้างอะไรสักอย่าง เพื่อประกอบเข้ากันเหมือนเดิมได้ ต้องมีการทำเครื่องหมายหรือกำกับว่าชิ้นส่วนที่รื้อออกมาอยู่ตรงส่วนไหนของอาคาร

สำคัญที่สุดอาคารบอมเบย์เบอร์มาแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ก่อสร้างโดยช่างฝีมือในอดีตผสมผสานระหว่างช่างพื้นบ้านกับช่างตะวันตก จึงได้ยินอยู่เสมอว่าเป็นอาคารลักษณะอาณานิคม คือการผสมผสานระหว่างตะวันตกและช่างพื้นบ้านของไทย

ลักษณะเด่นคือ การเข้ารอยต่อระหว่างหัวเสาที่เรียกว่า การเข้าแบบหัวเทียน เป็นการต่อไม้แบบให้เข้าล็อก ยึดด้วยตัวไม้เอง ไม่มีตะปูตอกและหาดูได้ยาก ปัจจุบันแทบไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว และด้วยความเป็นลูกผสมระหว่างตะวันตกที่มีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นและตะวันออกของเมืองไทยที่มีอากาศร้อน ตัวอาคารจึงมีระเบียงที่สวยงามและช่องลมที่แปลกตา ประดับด้วยศิลปะทางเหนือ ลายฉลุต่างๆ สวยงาม สิ่งเหล่านี้หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน ไม่สามารถประเมินคุณค่าที่เสียไปได้

ธีรวุฒิยังบอกเล่าถึงพื้นที่สวนรุกขชาติเชตวันว่า เป็นพื้นที่อยู่ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นพื้นที่เก่าแก่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเรื่องราวการทำไม้ในประเทศไทย โดยมีบริษัท อีสต์เอเชียติกส์ ประเทศเดนมาร์ก และบริษัท บอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ เข้ามาทำสัมปทานไม้ในภาคเหนือตอนบน และเข้ามาทำไม้ในเมืองแพร่ตั้งแต่ ปี 2432

โดยบริษัท อีส เอเชียติกส์ มีสำนักงานอยู่ในโรงเรียนการป่าไม้แพร่ ได้สัมปทานไม้ทางฝั่งตะวันออก บริษัท บอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง มีอาคารสำนักงานอยู่ริมแม่น้ำยม คือ อาคารสีเขียว
ทั้งสองบริษัทมีท่าน้ำเพื่อทำการล่องซุงอยู่บริเวณเดียวกัน ไม้จะล่องไปตามลำน้ำยมไปสู่ จ.นครสวรรค์ ลงไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อหมดอายุการอนุญาตทำไม้ก็ได้มอบอาคารให้แก่กรมป่าไม้เพื่อเป็นที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามสำหรับความผิดพลาด ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความสะเพร่าของผู้ดำเนินงาน หรือจะด้วยการสื่อสารที่ผิดพลาดหรือเหตุผลใดก็ตาม ณ เวลานี้ คงไม่ต้องพูดว่าใครผิดใครถูก

สิ่งที่จำเป็นคือ ทำอย่างไรให้อาคารหลังนี้คืนกลับมาให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้

เอกชัย วงศ์วรกุล ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ แสดงความรู้สึกว่า เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และหวังว่าหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องจะรับผิดชอบในเรื่องนี้ ทางออกที่ดีที่สุดคือ ทุกฝ่ายต้องเข้ามาแก้ไขและหาแนวทางออกร่วมกัน ในแต่ละหัวข้อที่มีการตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และตอบคำถามเกี่ยวเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อความกระจ่างของทุกฝ่าย โดยเฉพาะบริษัทรับเหมา วิศวกรคุมงาน ต้องตอบทุกรายละเอียดของข้อสงสัยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและมีแนวทางร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน

สมหวัง เรืองนิรัตศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานดูแลพื้นที่ และบูรณะซ่อมแซมสวนรุกขชาติเชตวัน กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ได้เดินทางไปตรวจสอบบริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน และได้เข้าพบนางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เพื่อหารือและหาแนวทางออกร่วมกันว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น เบื้องต้นอธิบดีกรมศิลปากรจะเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ก่อน

ขณะที่การหารือกับทางจังหวัดแพร่ก็ต้องหาแนวทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน และให้อาคารดังกล่าวกลับมาเหมือนเดิมให้มากที่สุด

ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความต้องการและจิตใจของคนในพื้นที่ให้มากที่สุด กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยืนยันจะดำเนินการบนความพึงพอใจของคนในพื้นที่เป็นหลัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image