คุณภาพคือความอยู่รอด : ความรับผิดต่อคุณภาพและความปลอดภัย : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : ความรับผิดต่อคุณภาพและความปลอดภัย : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : ความรับผิดต่อคุณภาพและความปลอดภัย : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

การที่เราจะอธิบายความหมายของคำว่า “คุณภาพ” ของ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้นั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยจริงๆ ครับ

ความหมายของคำว่า “คุณภาพของผลิตภัณฑ์” ที่ยอมรับกันทั่วไป ก็คือ (1) ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ (2) ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการหรือคาดหวังไว้ (3) ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นไปตามคำโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ และ (4) ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นไปตามมาตรฐาน

ส่วนความหมายของคำว่า “คุณภาพ” ในเชิงวิชาการ จะครอบคลุมถึงรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ (สินค้า) และประโยชน์ในการใช้งานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วย โดยที่ “คุณภาพ” จะไม่ได้ระบุว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ “ดีที่สุด” หรือ “ดีเลิศ” แต่อย่างใด แต่มักเกี่ยวข้องกับ “การตรงต่อประโยชน์ใช้สอย” มากกว่า

Advertisement

ทุกวันนี้ กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องของ “คุณภาพของผลิตภัณฑ์” มักจะกำหนดเป็นลักษณะของรูปลักษณ์ โครงสร้างตัวผลิตภัณฑ์ การใช้งาน ความปลอดภัย และมาตรฐานเป็นปัจจัยสำคัญ

“คุณภาพ” จึงปรากฏใน “กฎหมายว่าด้วยมาตรฐานของผลิตภัณฑ์” (Standardization) ของ “สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” ซึ่งสังกัด “กระทรวงอุตสาหกรรม”

ปัจจุบันเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “คุณภาพ” อยู่หลายฉบับ แต่ที่มีความสำคัญฉบับหนึ่ง ก็คือ “กฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในผลิตภัณฑ์” เพราะทำให้ “คุณภาพ” มีความเกี่ยวโยงกับ “ความปลอดภัย” ของผลิตภัณฑ์

Advertisement

กฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ “ผู้ผลิต” หรือ “ผู้ประกอบการ” ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยที่ “ผู้บริโภค” ที่ได้รับความเสียหายจากสินค้านั้นไม่ต้องพิสูจน์ว่าผู้ประกอบการจงใจหรือประมาทเลินเล่อที่จะก่อให้เกิดความเสียหายเช่นนั้นขึ้นหรือไม่

กฎหมายเรื่องความรับผิดในผลิตภัณฑ์นี้ จะเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนในเรื่องของความรับผิด และการฟ้องร้องคดี จึงมีลักษณะเป็น “กฎหมายเอกชน” เพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ที่มีการค้าขายในเชิงพาณิชย์แล้วผลิตภัณฑ์นั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ด้วยเหตุที่ผลิตภัณฑ์นั้นบกพร่อง หรือตัวผลิตภัณฑ์นั้นๆ แสดงถึงลักษณะของสินค้าที่ต่างไปจากความเป็นจริง (อาทิ ยา เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น)

ปัจจุบัน กฎหมายดังกล่าวก็คือ “พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551” ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 แต่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว

โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักจะเข้าใจกันว่าเรื่องของ “คุณภาพ” จะขึ้นอยู่กับ “ผู้ผลิต” (ผู้ประกอบการ) เป็นสำคัญ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “วิธีการใช้ของผู้บริโภค” (ลูกค้า) ก็มีความสำคัญต่อความปลอดภัยด้วย (คือถ้าใช้ผิดวิธีหรือใช้ไม่ถูกต้อง ก็อันตรายได้)

“คุณภาพ” และ “ความปลอดภัย” จึงเป็น “ความอยู่รอด” ทั้งของ “ผู้ผลิต” และ “ผู้บริโภค” ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image