ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) เพื่อความเป็นเลิศ การพัฒนาพลังงานประเทศ

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC)

เพื่อความเป็นเลิศ การพัฒนาพลังงานประเทศ

แผนกลยุทธ์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ฉบับที่ 6.2 (พ.ศ.2562-2566) ภายหลังได้รับการเห็นชอบอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (National Energy Technology Center: ENTEC) เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างความเป็นเลิศในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ เกิดการเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนแผนพลังงานไปสู่การปฏิบัติ

 

ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล

Advertisement

 

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช.มีแนวคิดจัดตั้งเอ็นเทค-ENTEC เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างความเป็นเลิศ การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ ให้เกิดการเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับกระทรวงพลังงานและภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานไปสู่การปฏิบัติ และเกิดการใช้งานจริง เพื่อลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และช่วยแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการศึกษาเชิงนโยบายการจัดตั้งศูนย์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 และได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาต่อมา ดังนั้น หากนับตั้งแต่การศึกษาในเชิงวิชาการจนได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี 4 เดือน เพื่อเดินหน้าในเรื่องการวิจัยและพัฒนา พร้อมบูรณาการเชื่อมโยงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนเข้ามา เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ซึ่งการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรหลายประเภท หนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญ คือ เรื่องพลังงาน ในสมัยก่อนอุตสาหกรรม ธุรกิจการท่องเที่ยวและการเกษตร มีเรื่องพลังงานเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก

 

Advertisement

 

“ที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าพลังงานประมาณ 70% และส่งออกพลังงานชีวมวล (Biomass Energy) ไปจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย เพราะเรามีชีวมวลจำนวนมาก ตั้งแต่ปศุสัตว์ การทำก๊าซชีวภาพ (Biogas) หรือแม้กระทั่งในภาคเกษตรกรรม ที่สามารถนำส่วนหนึ่งของชีวมวลเหล่านี้มาใช้ในเรื่องของพลังงานได้ รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการรวบรวมแหล่งของพลังงานชีวมวล ในด้านเชิงนโยบายและโลจิสติกส์ เพราะเรามีพื้นที่ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางด้านพลังงาน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งการผลิตในประเทศที่ผ่านมายังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

สิ่งที่ต้องทำต่อคือ เทคโนโลยีที่ไปข้างหน้ามีมากกว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันหรือไม่ ถ้ามีเราจะสามารถนำ (lead) อุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ได้ในอนาคต เนื่องจากเรามีหลายเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์แสง เพราะในความจริงพลังงานชีวมวลเกิดขึ้นจากการใช้น้ำ แสงแดด คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ในการผลิต เป็นต้น เราอาจสามารถสร้างแหล่งพลังงานใหม่ในอนาคตในเชิงขั้นสูงระดับ Technology Globalization เพื่อให้ประเทศไทยเรามีอิสรภาพทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งเหมาะสมและเฉพาะเจาะจงกับพลังงานชีวมวลที่อยู่ในบ้านเราด้วย”Ž ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าว

นายณรงค์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงพลังงานจะมีเรื่องระบบการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เช่น แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ที่ต้องเคลื่อนที่ ซึ่งวัตถุดิบในการผลิตที่เรียกว่าแร่หายาก (Rare Earth) และต้องนำเข้า ขณะที่บ้านเรามีแร่จำนวนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยหรือที่เห็นจากในสมัยโบราณ มีการใช้สังกะสีเป็นจำนวนมาก นำมาทำภาชนะ หลังคา เป็นต้น สังกะสีถือเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการผลิตเป็นแบตเตอรี่ได้ การวิจัยที่ผ่านมา สวทช.ได้ร่วมกับจุฬาฯ พัฒนาให้แบตเตอรี่ดังกล่าวมีความเสถียร และต้องไม่ระเบิด เป็นการสร้างเสถียรภาพในยามที่เกิดปัญหาเราสามารถที่ผลิตแบตเตอรี่ชดเชยในประเทศได้ ฉะนั้น การศึกษาวิจัยในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และสิ่งเหล่านี้เมื่อผลิตแล้วต้องมีการบริหารจัดการให้ดี เป็นต้น

 

จุลเทพ ขจรไชยกูล

นายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และในฐานะผู้บริหารที่ดูแลการจัดตั้งศูนย์ ENTEC เบื้องต้น กล่าวว่า สำหรับการวางเป้าหมายของศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ จะเป็นไปตามหลักคิดของ สวทช. สิ่งที่เราลงทุนสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านการวิจัยและพัฒนา จะเกิดผลงานวิจัยที่จะสร้างผลกระทบในทางเศรษฐกิจและสังคม มูลค่า 4-5 เท่าขึ้นมา เช่น ถ้ามองถึงเทคโนโลยีในเรื่องของพลังงานชีวมวล ต่อไปเราจะต้องมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบ้านเราในการแปลงวัตถุดิบที่มีศักยภาพมาเป็นพลังงานหมุนเวียน ในรายละเอียดจะมีการหารือให้สอดรับกับแผนนโยบายของประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานดูแลอยู่ รวมถึงในเรื่องอื่นๆ

 

 

เช่น สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนควรจะใช้ประมาณร้อยละเท่าใด จะมีแนวทางเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร เป็นการสร้างเทคโนโลยี สร้างอุตสาหกรรม สร้างกิจการสร้างงานรองรับขึ้นมาอย่างไร ตลอดจนทางด้านเทคโนโลยีการกับเก็บพลังงาน จะมีการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานที่เหมาะกับการใช้ในประเทศเขตเมืองร้อน เพื่อให้เรามีเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับลักษณะอากาศที่ร้อนชื้นสูง ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนไหนที่อาจใช้วัตถุดิบในประเทศหรือภูมิภาคเข้ามาเป็นวัสดุประกอบได้ ก็จะเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้สิ่งที่เป็นวัตถุดิบต้นทางเหล่านั้น ข้อสำคัญในอนาคต คือ ความมั่นคงทางพลังงาน หากเกิดกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น ความสามารถในการฟื้นตัวและสามารถผลิตพลังงานขึ้นมาใช้เองในภาวะวิกฤตต่างๆ ตรงนี้จะเป็นหัวใจในการรักษากิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนให้เดินหน้าต่อไปได้

”ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติที่จะจัดตั้งขึ้น จะรวบรวมบุคลากรวิจัย สวทช. ที่ทำงานด้านพลังงานมาทำงานร่วมกัน จะมีการสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ ภาพรวมที่จะเกิดขึ้นคือ ประเทศไทยจะมีศูนย์แห่งชาติทางด้านเทคโนโลยีพลังงานที่เป็นแกนหลักในการบูรณาการงานของภายใต้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องต่างๆ ในการทำงานที่จะติดต่อกับต่างประเทศก็ดี และทำงานกับภาคอุตสาหกรรมก็ดี จุดนี้จะเกิดความชัดเจนขึ้น และลักษณะสำคัญของการเป็นศูนย์ คือ มีองค์ความรู้ในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เคมี ฟิสิกส์ วัสดุศาสตร์ วิศวกรรมไฟฟ้าและด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการทำงาน ซึ่งฐานความรู้ในแต่ละศาสตร์จะมีการเชื่อมโยง เพื่อให้เกิดการบูรณาการกันมากขึ้นŽ” นายจุลเทพกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image