ภาคประชาชนยำเละ บริษัทรับเหมา รื้อบ้านเขียว วิศวกรรับ ไม่รู้ว่าเป็นโบราณสถาน

ภาคประชาชนยำเละ บริษัทรับเหมา รื้อบ้านเขียว วิศวกรรับ ไม่รู้ว่าเป็นโบราณสถาน

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ วสา ชื่นบาน ภาคประชาชน จ.แพร่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กสรุปเนื้อหา การประชุมเครือข่ายภาคประชาชน ในเพจคนเมืองแพร่ กรณีการรื้อทิ้งอาคารบอมเบย์เบอร์มา อาคารไม้สักอายุกว่า 131 ปี หรือบ้านเขียว ที่ตั้งอยู่ภายในสวนรุกขชาติเชตวัน อ.เมือง จ.แพร่ โดยผู้รับเหมาได้เข้าไปรื้อถอนจนเหลือแต่ซากปรักหักพัง และกองไม้ที่รื้อถอน ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบและหาทางออกร่วมกันนั้น

โดยข้อความในโพสต์ ระบุว่า

คงได้รับชมการชี้แจงที่ศาลากลางผ่านเว็บเพจต่างๆ ไปแล้วนะครับ ผมจะสรุปสาระออกเป็นข้อๆ อีกครั้งหนึ่งดังนี้

สรุปการประชุมชี้แจงที่ศาลากลางที่แพร่

Advertisement

มีคนไปกันค่อนข้างเยอะ เมื่อเริ่มประชุมเครือข่ายภาคประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ที่ต่อสู้และแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วยสติปัญญา องค์ความรู้และหลักวิชาการ แต่ถึงกระนั้นในช่วงหนึ่งของการชี้แจงมีคุณยาย 2 คนจากบ้านเชตวันและบ้านพระนอนปรี๊ดแตกเมื่อแกรู้ว่าผู้รับเหมาที่ทุบอาคารเป็นคนบ้านเชตวันนี้เอง จึงต่อว่าอย่างรุนแรง (แต่ใช้ถ้อยคำสุภาพ) จนต้องเบรกกัน

ขอสรุปสาระเป็นข้อๆดังนั้น (ในห้องประชุมจริงๆ การตอบโต้กันไม่ได้ต่อเนื่องกัน ผมเพียงเอามาเรียงกันให้อ่านง่ายและเข้าใจง่ายเท่านั้น)

1 ) ก่อนหน้านั้นฝ่ายทุบอาคารอ้างว่า อาคารหลังนี้ไม่ใช่โบราณสถานและอยู่นอกเขตอนุรักษ์เมืองเก่าที่ได้ประกาศเอาไว้…วันนี้ภาคประชาชนได้สอนมวยฝ่ายทุบโดยเอากฎหมายมาชี้แจงให้เห็นว่าอาคารหลังนี้เข้าองค์ประกอบของการเป็นโบราณสถานตามกฎหมาย

Advertisement

2 ) วิศวกรสารภาพว่าที่รื้ออาคารหลังนี้ไปเพราะไม่รู้ว่าเป็นโบราณสถาน ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศิลปกรออกมาย้ำ (กึ่งตำหนิ) ว่าอาคารหลังนี้ไม่มีข้อสงสัยอะไรเลย มันเป็นโบราณสถานอย่างชัดแจ้ง

3) เมื่อถูกถามว่าใครคือคนสั่งทุบก็อ้ำอึ้งอ้อมแอ้มโยนกันไปโยนกันมา สุดท้ายก็อยู่ในสภาพ “ดักจื้อกื้อเหมือนลื้อฟังธรรม” (เงียบกริบราวกับการนั่งฟังเทศน์ชองชาวไทลื้อ) ไม่มีใครกล้าพอที่จะออกมารับผิดชอบ

4) วิศวกรนำภาพมาประกอบการชี้แจงว่า เสาผุถูกปลวกกินจึงต้องรื้อทั้งหมด ทางกรมศิลป์ไม่เห็นด้วยที่รื้ออาคาร ส่วนไม้อัดที่เอามาทำผนังชั้นในนั้นเกิดขึ้นในสมัยที่ทางกรมป่าไม้ดัดแปลงอาคารหลังนี้เป็นสำนักงานป่าไม้เขตแพร่

5 ) เมื่อถูกถามว่าได้มีการศึกษาอาคารตามหลักวิศวกรรม-สถาปัตยกรรมก่อนที่จะมีการรับเหมาหรือไม่ นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผอ.พื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) อ้อมแอ้มตอบเพื่อให้คนฟังเข้าใจไปว่า “ได้ทำแล้ว”…แต่เมื่อถูกถามว่าถ้าทำแล้วขอดูรายงานฉบับนั้นหน่อย…นายอิศเรศจึงสารภาพออกมาว่า “ไม่ได้ทำ”

6 ) มีคนถามว่างานระดับนี้จะต้องให้บริษัทรับเหมาจะต้องมีความรู้และประสบการณ์มารับงาน ทางฝ่ายนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผอ.พื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยาน ก็ตอบมาทันทีว่าบริษัทรับเหมานี้มีความรู้สามารถเพียงพอ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการพูดที่ไม่ตรงความจริง เพราะอาคารที่ถูกรื้อไปก็เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง พอดีได้จังหวะที่ต่อเนื่องจากเนื้อหาที่เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ได้อภิปรายเอาไว้ ผมจึงถามวิศวกรของบริษัทรับเหมาถึงการทำรหัสไม้แบบเดียวกับการทำรหัสหินในหลักการเช่นเดียวกับการซ่อมแซมโบราณสถานหินแบบอนัสติโลซิสหรือไม่ (ที่ช่างไทยใช้หลักการเดียวกันนี้มาใช้ในการถอดและประกอบบ้านไม้มาแต่โบราณ) ซึ่งปรากฏว่าวิศวกรไม่รู้เรื่องรู้ราวกับคำถามนี้เลยจึงตอบมาแบบ “ไปไหนมาสามวาสองศอก” จึงบอกแกไปว่าไม่ใช่เช่นนั้น และคาดคั้นแกว่า “ได้ทำหรือไม่ได้ทำ ให้ตอบมาสั้นๆ” ซึ่งแกก็ตอบมาว่า “ไม่ได้ทำ” และคำตอบนี้คงจะทำให้ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลป์รู้ทันทีว่า “มือยังไม่ถึงสำหรับงานระดับนี้”

7) เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ได้ตำหนิตรงๆ เลยว่าไม่ได้มีการทำตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นยังถูกทางกรมศิลป์สอนมวยอีกว่าการยื่นหนังสือไปยังกรมศิลป์ก็ทำไม่ถูกต้อง ทางกรมศิลป์กำลังรออยู่ว่าจะเอาอะไรอย่างไร…อ้าว…ก็มารื้ออาคารไปเสียแล้ว ผมเข้าใจว่าทางกรมศิลป์ก็คงจะอิดหนาระอาใจ เช่นจะต้องจัดหมวดหมู่ไม้ทำรหัสให้เอง ซึ่งก็เป็นงานที่ยากขึ้นโดยใช่เหตุที่วิศวกรไม่รู้เรื่องรู้ราวและไม่ได้ทำไว้ก่อนที่จะรื้ออาคาร

8 ) จะสร้างอาคารหลังนี้ขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิม แต่ก็เป็นงานยากขึ้นมาอีกเพราะทั้งกรมอุทยานและวิศวกรของผู้รับเหมาไม่ได้ศึกษาอาคารและทำรายงานอย่างเป็นระบบเก็บเอาไว้ก่อนจะรื้อ เก็บแค่ข้อมูลคร่าวๆ เอาไว้นิดหน่อยเอง อย่างไรก็แล้วแต่งานลักษณะที่ท้าทายเช่นนี้จริงๆ แล้วทางกรมศิลป์ชอบเพราะพวกเขามีประสบการณ์สูงมาก่อนในงานบูรณะที่จะต้องมีการสืบค้นนั่นศึกษานี่ ตอนนี้กรมศิลป์กำลังจะไปตามล่าหางานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ป.โท ม.ศิลปากร ที่ได้เข้ามาศึกษาอาคารในสถาปัตยกรรมยุโรปในเมืองแพร่ มาเป็นข้อมูลในการสร้างอาคารหลังนี้ใหม่

9 ) ทางกรมศิลป์จะนำเจ้าหน้าที่มาช่วยงานและจะเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด

10 ) รองอธิบดีกรมอุทยานรับปากว่าจะหางบประมาณจากทางกรมมาใช้ในการสร้างอาคารหลังนี้ขึ้นมาใหม่

11 ) ในอนาคตห้ามไม่ให้เจ้าของพื้นที่ที่มีอาคารโบราณตั้งอยู่ทำการเปลี่ยนแปลงบูรณะ หรือรื้อถอนอาคารเองโดยพลการ จะต้องมีการนำเสนอกรรมการเสียก่อนและจะต้องแจ้งให้ทางภาคประชาสังคมได้รับรู้ด้วย

12 ) จำเป็นจะต้องขยายเขตอนุรักษ์เมืองเก่าออกไปยังเขตที่ประชิด เพื่อที่จะสามารถอนุรักษ์เมืองได้ดียิ่งขึ้น

 

เครดิตภาพ วสา ชื่นบาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image