เปิดช่อง’คดีอุ้มวันเฉลิม’หากญาติเเจ้งความเป็นอำนาจ’อสส.’ตั้งพงส.คดีนอกราชอาณาจักรได้

เปิดช่องทางกฎหมาย”คดีอุ้มวันเฉลิม”หากญาติเเจ้งความเป็นอำนาจอสส.ตั้งพนักงานสอบสวนคดีนอกราชอาณาจักรเผยยังพบอุปสรรคเรื่องการตั้งสำนวนสอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน สำหรับคดีการหายตัวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้า ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.,เเละ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศกัมพูชา เเละถูกกลุ่มบุคคลใช้กำลังหน่วงเหนี่ยวเสรีภาพอุ้มหายจากหน้าคอนโดฯ ที่พักอาศัย ในกรุงพนมเปญ เมื่อเวลา 17.54 น. วันที่4 มิถุนายน ขณะเดินลงมาซื้อลูกชิ้นปิ้งหน้าคอนโดฯ แม้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพยายามเข้าไปช่วย แต่กลุ่มคนที่มาอุ้มมีอาวุธปืนด้วยนั้น

เเหล่งข่าวนักวิชาการด้านกฎหมายได้เผยถึงช่องทางตามกฎหมายที่ญาติสามารถกระทำได้เเม้เป็นเหตุเกิดนอกราชอาณาจักร ว่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ

ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังกล่าวจะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักรซึ่ง ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเสรีภาพก็บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว

Advertisement

โดยอำนาจการสอบสวนจะเป็นไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ที่บัญญัติว่า ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือจะมอบหมายหน้าที่นั้น ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้ในกรณีที่อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนมอบหมายให้พนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวน อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนจะมอบหมายให้พนักงานอัยการคนใดทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนก็ได้ หรือให้พนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือให้ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนมีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน บรรดาอำนาจและหน้าที่ประการอื่นที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ

ในกรณีที่พนักงานอัยการทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของพนักงานอัยการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐาน

ในกรณีจำเป็น พนักงานสอบสวนต่อไปนี้มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งจากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน
(1) พนักงานสอบสวนซึ่งผู้ต้องหาถูกจับในเขตอำนาจ
(2) พนักงานสอบสวนซึ่งรัฐบาลประเทศอื่นหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายได้ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา
เมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน แล้วแต่กรณี เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้ทำความเห็นตามมาตรา 140 มาตรา 141 หรือมาตรา 142 ส่งพร้อมสำนวนไปยังอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน

Advertisement

อย่างไรก็ตามสำหรับคดีของนายวันเฉลิมอาจจะพบอุปสรรคลำบากตรงการตั้งรูปสำนวน หากเเม้ญาตินายวันเฉลิมจะมีสิทธิไปเเจ้งความร้องทุกข์ตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมายที่กองบังคับการกองปราบปรามที่มีอำนาจสอบสวนได้ทั่วราชอาณาจักร เนื่องจากเท่าที่ปรากฎข้อเท็จจริงในปัจจุบันยังไม่พบสถานะของนายวันเฉลิมว่ายังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตเเล้ว พบเพียงเเต่ว่าถูกอุ้มหายเเละไม่พบว่าผู้กระทำเป็นใครเเละหลบหนีมายังประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าจะพนักงานอัยดารหรือพนักงานสอบสวนไม่สามารถมีอำนาจไปสอบนอกราชอาณาจักรได้ ตรงนี้อาจจะเป็นเหตุให้ยังไม่สามารถตั้งเรื่องให้พนักงานสอบสวนได้ จะสังเกตได้ว่าเเม้ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งสหประชาชาติถือเป็นสนธิสัญญาหลักจำนวน 7 ฉบับ โดยที่ผ่านมามีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายให้ สนช.พิจารณา ซึ่งร่างดังกล่าวมีการเสนอทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชน แต่ถูกถอนออกมาก่อนทำให้ขณะนี้ยังไม่มี กฎหมายภายในบังคับกับเรื่องบุคคลสูญหายเป็นการเฉพาะ นอกจากประมวลกฎหมายอาญาที่มีอยู่นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image