เดินหน้าชน : เสียดายบ้านเขียว โดย นายด่าน

หากกลุ่มเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ และชาวบ้านในพื้นที่ไม่ออกมายื่นหนังสือให้ นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าฯแพร่ ตรวจสอบการรื้อถอนอาคารไม้บอมเบย์เบอร์มา หรือ บ้านเขียว อายุ 131 ปี ที่ตั้งอยู่บริเวณท่าน้ำบ้านเชตวัน อ.เมือง จ.แพร่

อาคารไม้สักหลังนี้จะมีการนำกลับมาประกอบใหม่หรือไม่

ตามคำชี้แจงของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะเจ้าของพื้นที่และเจ้าของโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน

ด้วยงบประมาณ 4.5 ล้านบาท

Advertisement

ภายหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทุบอาคารที่อยู่คู่กับชาวแพร่มานาน

การออกมาคัดค้านของชาวแพร่จะไม่เกิดขึ้น หากโครงการนี้มีการทำประชาคม หรือสอบถามความคิดเห็นของคนเมืองแพร่เสียก่อน

อย่าลืมว่าอาคารบอมเบย์เบอร์มา มีความสำคัญ 2 ด้าน คือ ด้านประวัติศาสตร์ เคยเป็นสำนักงานของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง ที่เข้ามาทำสัมปทานไม้ในภาคเหนือตอนบน และในพื้นที่จังหวัดแพร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2432

Advertisement

ด้านสถาปัตยกรรม นายธีรวุฒิ กล่อมแล้ว สถาปนิก และประธานภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ ระบุว่า เป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า เป็นการก่อสร้างโดยช่างฝีมือในอดีต ที่ผสมผสานระหว่างฝีมือช่างพื้นบ้านกับช่างทางตะวันตก ช่างพื้นบ้านของเรา ที่เด่นคือ การเข้ารอยต่อระหว่างหัวเสา ที่เรียกว่า การเข้าแบบหัวเทียน คือ การต่อไม้แบบให้เข้าล็อกยึดด้วยตัวไม้เองไม่มีตะปูตอก และหาดูได้ยากสำหรับเทคนิคการเข้าเสาแบบหัวเทียนที่ว่า ในปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว

การจะเข้ามารื้อถอน หรือปรับปรุงอาคารยิ่งต้องมีความรอบคอบ

ในขณะที่คำชี้แจงของลูกท็อป วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ว่า “การรื้ออาคารซึ่งเป็นไม้ทั้งหลัง ไม่ได้เอาไม้ไปไหน ไม้ทุกแผ่นยังกองอยู่ที่เดิม ส่วนสาเหตุที่ต้องรื้อไม้ลงมา เพราะฐานรากคอนกรีตของอาคารเสื่อมสภาพ การจะซ่อมแซมได้ต้องทุบทิ้งแล้วทำฐานใหม่ เมื่อทำฐานเสร็จก็จะนำไม้ที่รื้อออกมาประกอบเป็นตัวอาคาร ถ้าไม่ซ่อมแซมอาคารก็จะพัง เพราะผ่านมาเป็น 100 กว่าปีแล้ว”

ไม่ได้สร้างความกระจ่างมากนัก เพราะต้องไม่ลืมว่า มติคณะรัฐมนตรี 10 ก.พ.2558 ประกาศให้แพร่เป็นเมืองเก่าว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า มีการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าแพร่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม

และช่วงหลายปีที่ผ่านมาจังหวัดได้ระดมทุกภาคส่วน เพื่อทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าแพร่

ประเด็นที่ต้องติดตามต่อจากนี้ นอกจากข้อเรียกร้องของกลุ่มภาคีเครือข่ายฯ ที่ขอให้หาผู้รับผิดชอบในการทุบอาคารบอมเบย์เบอร์มา การตรวจสอบข้อเท็จจริง และการเปิดเผยข้อมูลและแผนการรื้อถอนแล้ว คงต้อง
เอาใจช่วยขอให้ประกอบอาคารหลังนี้ให้กลับมาเหมือนเดิม

สิ่งสำคัญการทุบอาคารหลังนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษา และเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เพราะน่าเสียดาย หากประวัติศาสตร์เหล่านี้ต้องถูกทุบทิ้งไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image