ขานรับ “นายกฯตู่” อปท.รูปแบบไหน ได้เฮ-“เลือกตั้ง”

การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกแช่เย็นและดองเค็มมานานกว่า 5 ปี

ก่อนหน้านี้ มีกระแสว่าจะเลือกหลังเลือกตั้ง 26 มี.ค.2562 ประมาณเดือน ต.ค.2562 แต่ก็เงียบไป

กลับมากำหนดเวลาใหม่เป็นปลายปี 2563 นี้ แต่อยู่ๆ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาจุดพลุว่า อาจต้องเลื่อนอีก เพราะโยกงบประมาณไปแก้สถานการณ์โควิด-19

จนโดนสวดชยันโตจากสังคมไปชุดใหญ่

Advertisement

ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกมาดับปมร้อนว่า จะพิจารณาเอง ขึ้นอยู่กับกฎหมาย ความพร้อมของกระทรวงมหาดไทย และ กกต.

พร้อมกับลั่นคำว่า ถ้าเป็นไปได้ จะมีการเลือกตั้งสักอย่างหนึ่งภายในปีนี้

ส่วนเรื่องงบประมาณ ทางเลขาธิการ กกต. ออกมายืนยันว่า งบ 800 ล้านบาทที่ได้รับจัดสรรมายังมีอยู่

Advertisement

เมื่อมีเสียงยืนยันจาก บิ๊กตู่Ž ว่าต้องมีการเลือกตั้ง อปท.อย่างใดอย่างหนึ่งในปีนี้ จึงต้องสำรวจความพร้อมของท้องถิ่นเพื่อวางไทม์ไลน์ว่า อปท.รูปแบบไหนมีความพร้อมในการเลือกตั้งมากที่สุด

นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กระบี่ ในฐานะนายกสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย บอกว่า หลังจากมีกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกระดับ ทั้งรูปแบบทั่วไปประกอบด้วย อบจ. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และ กทม. เมืองพัทยา อปท.ในรูปแบบพิเศษ

ล่าสุดยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะพิจารณาให้ อปท.รูปแบบใดจัดการเลือกตั้ง สำหรับ อบจ.ส่วนตัวเห็นว่าหากจะจัดให้มีการเลือกตั้ง รัฐบาลควรจะดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2564 เพื่อให้ กกต. จัดการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ครบทุกจังหวัด และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

และเนื่องจาก อบจ.แต่ละแห่งต้องใช้งบจัดการเลือกตั้งแห่งละหลายสิบล้านบาท จะต้องรอความพร้อมจากการใช้งบประมาณในปี 2564 โดยงบอุดหนุนจะเริ่มโอนให้ อบจ.76 จังหวัดทั่วประเทศได้ ช่วงเดือนธันวาคม 2563


“ขอให้รัฐบาลกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้ง อปท.รูปแบบใดในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้นักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ได้เตรียมความพร้อม โดยเฉพาะในเรื่องของระเบียบและกฎหมายที่เป็นข้อห้ามต่างๆ ในการปฏิบัติ แต่ปัจจัยที่หลายฝ่ายวิตกว่าจะมีผลกระทบมาจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยังไม่มีใครมั่นใจว่าจะกลับมาระบาดอีกหรือไม่ หากมีการผ่อนคลายมาตรการ รวมทั้งบรรยากาศของการเมืองระดับชาติจะทำให้มีผลกระทบกับการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่”Ž นายสมศักดิ์กล่าว

ขณะที่ นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ในฐานะประธานเครือข่าย อบต.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลและกกต.ควรประกาศให้ชัดเจนเพื่อกำหนดเวลาที่เหมาะสมให้ อปท.ทุกรูปแบบจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชน นักการเมืองได้รับทราบกำหนดเวลาที่ชัดเจน และเมื่อกำหนดแล้วหากสถานการณ์ทางการเมืองระดับประเทศมีปัญหา หรือมีปัจจัยอื่นรัฐบาลก็จะต้องจัดการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ให้ได้ เพราะที่ผ่านมากรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ก็ไม่เคยประวิง
เวลาให้ผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่รักษาการ เมื่อเกษียณ 60 ปี หรือลาออกนายอำเภอก็ยังจัดเลือกตั้งได้ตามปกติ

“หากกำหนดช่วงเวลาให้เหมาะสม อบต.ทั่วประเทศ ควรจัดการเลือกตั้งหลังเดือนมกราคมปี 2564 เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยกำหนดตัวเลขฐานประชากรในแต่ละพื้นที่ 878 อำเภอให้ชัดเจน
ภายในเดือนมกราคมของทุกปีที่จะกำหนดให้มีการเลือกตั้ง หลังจากกฎหมายใหม่กำหนดให้เลือกตั้งสมาชิก อบต.เหลือหมู่บ้านละ 1 คน”Ž นายธีรศักดิ์กล่าว

ด้าน นายมานพ ปัทมาลัย นายกเทศมนตรีตำบลท่ามะเขือ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) กล่าวว่า การกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเลือกตั้ง อปท.ทุกประเภทจะมี 2 ช่วงประกอบด้วย ก่อนการทำร่างงบประมาณรายจ่าย และหลังจากทำร่างงบประมาณรายจ่ายเสร็จสิ้นแล้ว สำหรับในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีการทำงบประมาณ จึงไม่เหมาะสมในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งกว่าจะมีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเพื่อให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นเข้าไปทำหน้าที่ มีระยะเวลานานพอสมควร อาจมีผลกระทบกับแนวทางการพัฒนาหากทำงบประมาณล่าช้า


“ดังนั้น หากกำหนดเวลาที่เหมาะสมเทศบาลจะต้องจัดการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม 2563 เนื่องจากได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายเสร็จแล้ว แต่ล่าสุดจากการติดตามการแบ่งเขตของเทศบาลทั่วประเทศได้รับแจ้งว่า กกต.กลาง ได้จัดการแบ่งเขตเทศบาลทุกระดับเสร็จเพียง 33 จังหวัด เหลืออีก 43 จังหวัดได้รับแจ้งว่าการแบ่งเขตจะต้องใช้เวลาพิจารณาอีกอย่างน้อย 2 เดือน จึงสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ ขณะที่ อบต.ไม่มีปัญหาเรื่องการแบ่งเขตเพราะใช้หมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้งเทศบาลได้ภายในปีนี้หรือไม่หรือจะจัดในช่วงต้นปี 2564 อยู่ที่การพิจารณาของรัฐบาล”Ž นายมานพกล่าว

จับตาผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาลตำบล (ทต.) เทศบาลเมือง (ทม.) เทศบาลนคร (ทน.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และรูปแบบพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา หมดวาระลง 97,940 ตำแหน่ง ตอนนี้อยู่ในตำแหน่งกันมาอย่างน้อยรอบ 2 กัน และเมื่อปี 2561 กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้ดำเนินการ การซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการตั้งงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่ง อปท.ทั่วประเทศ 7,852 แห่งดำเนินการในส่วนนี้พร้อมหมด

ในปีนี้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้แจ้ง อปท.ตรวจสอบและรายงานการตั้งงบประมาณตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 รายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งท้องถิ่น ทุกอย่างพร้อมหมด ไม่มีการโยกงบนี้ไปทำอย่างอื่น

ถึงจุดนี้ ต้องมาลุ้นว่า อปท.รูปแบบไหนจะถูกหวยได้เลือกตั้งในปีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image