ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย

รัชดา ธนาดิเรก

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มี 3 ประเด็นหลักๆ ด้วยกัน คือ 1.เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ 2.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว และ 3.เพื่อขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และสร้างหลักประกันความเป็นธรรมแก่ประชาชน

ทั้งนี้ เหตุจำเป็นที่ต้องร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะปัจจุบันนี้ยังมีการกระทำทรมาน และทำให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นอยู่ ยังมีการร้องเรียนไปยังสหประชาชาติเรื่องการงดเว้นโทษให้เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีการกำหนดความผิด บทลงโทษ รวมถึงมาตรการป้องกัน และเยียวยาในกรณีการกระทำทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหายไว้ในกฎหมาย เพราะฉะนั้น การตราร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และมากไปกว่านั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นมาตรการสำคัญตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

น.ส.รัชดากล่าวอีกว่า สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น เป็นการกำหนดฐานวามผิด การกระทำทรมาน และการทำให้บุคคลสูญหาย มีการกำหนดมาตรการป้องกันการเยียวยาผู้เสียหาย และการดำเนินคดีสำหรับความผิดดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ยกตัวอย่างเช่น มีการกำหนดฐานความผิดการกระทำทรมาน และการทำให้บุคคลสูญหาย โดยกำหนดให้ไม่เป็นความผิดทางการเมือง ซึ่งสามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้เสียหายสามารถดำเนินการฟ้องร้องในคดีได้ และมีการกำหนดให้ความผิดตาม พ.ร.บ.นี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษมีหน้าที่สอบสวนเป็นหลัก เว้นแต่กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตกเป็นผู้ต้องหา ให้ตำรวจเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนแทน

นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ยังได้ระวางโทษความผิดฐานกระทำทรมาน หรือกระทำให้บุคคลสูญหายด้วย เช่น ผู้ใด ความผิดฐานกระทำทรมาน หรือกระทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษจำคุกตั้บแต่ 1 ปี-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายคือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปแล้ว ดังนั้น หลังจาก ครม.เห็นชอบแล้วจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบพิจารณาอีกครั้ง ก่อนให้สภาพิจารณาต่อไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image