‘วราวุธ’ ลงพื้นที่นครศรีฯ ตามเรื่อง ทส.จ้างงานประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด-19

‘วราวุธ’ ลงพื้นที่นครศรีฯ ตามเรื่อง ทส.จ้างงานประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมผู้บริหาร ทส. เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามการปฏิบัติงานภายใต้โครงการจ้างงานให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งติดตามการปฏิบัติงานภายใต้โครงการจ้างงานให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 วางมาตรการป้องกันการหักหัวคิว เผยเสร็จโครงการได้ข้อมูลทุกตำบลทั่วประเทศ ทั้งแปลงเกษตรในพื้นที่ประสบภัยนอกเขตชลประทาน พื้นที่สีเขียวที่ต้องการอนุรักษ์ฟื้นฟูชนิดพันธุ์ไม้ที่ชุมชน/ประชาชนต้องการการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ 23 จังหวัด เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การทำแผนชุมชนและการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับตำบล

นายวราวุธกล่าวว่า ได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานภายใต้โครงการจ้างงานให้กับประชาชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการกับหน่วยงานจ้างงานคือ สำนักปลัด ทส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้  และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ว่า 4 หน่วยงานของ ทส.ได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นลูกจ้าง เพื่อเป็นผู้ช่วยงานเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้วทุกหน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 16,488 อัตรา และเพื่อให้ การดำเนินงานตามโครงการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย จึงได้กำหนดให้มีการสำรองบุคคลไว้ 15% เพื่อทดแทนกรณีลูกจ้างลาออกระหว่างปฏิบัติงาน และเพื่อความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ มีการจัดทำสัญญาจ้างระหว่างหน่วยงาน และผู้ที่ได้รับการจ้างงาน และหน่วยงานมีการประสาน/ติดต่อธนาคารเพื่อบริการผู้รับจ้างในการเปิดบัญชีรับเงิน โดยเงินค่าจ้างจะเข้าบัญชีผู้ที่ได้รับการจ้างโดยตรง ทั้งนี้ ได้กำชับทุกหน่วยงานดำเนินการในการตรวจสอบการจ้างและการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างเข้าบัญชี รวมแล้วไม่เกิน 5 วันทำการ

รัฐมนตรี ทส.กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่จะได้หลังสิ้นสุดโครงการจ้างงาน ทุกตำบลทั่วประเทศจะมีข้อมูลจากการสำรวจ 7 ชุด ประกอบด้วย 1) แปลงเกษตรในพื้นที่ประสบภัยนอกเขตชลประทาน (ภัยแล้ง/น้ำท่วม) 2) โครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำที่ชำรุดเสียหาย (อ่างเก็บน้ำ ฝาย คลองชลประทาน ประปาหมู่บ้าน ฯลฯ) 3) บ่อบาดาลสาธารณะที่ต้องการปรับปรุงซ่อมแซม 4) การจัดการขยะในหน่วยงาน/ชุมชน 5) พื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ต้องการอนุรักษ์ฟื้นฟู (ไม่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ) 6) ชนิดพันธุ์ไม้ที่ชุมชน/ประชาชนต้องการ 7) ข้อมูลเครือข่ายองค์กร และเครือข่ายภาคประชาชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม. รสทป. รสทช. ฯลฯ)

Advertisement

“โดยข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจะนำไปสู่การทำแผนชุมชนและการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับตำบล ได้ข้อมูลการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 2,660 หมู่บ้าน เนื้อที่ 1.8 ล้านไร่ เพื่อนำไปสู่การจัดที่ดินแก่ประชาชนตามนโยบาย คทช. และเกิดความร่วมมือจาก 622 เครือข่ายไฟป่า ในพื้นที่ 31 จังหวัด มีการปลูกฟื้นฟูป่าหลังถูกไฟไหม้ เนื้อที่ 18,660 ไร่ เพื่อให้ป่าคงความอุดมสมบูรณ์ โดยผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่การดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากผืนป่า สร้างป่า สร้างงาน สร้างรายได้ แหล่งน้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 60 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 56 แห่ง และหน่วยควบคุมพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 2 แห่ง รวม 118 แห่ง มีแหล่งน้ำแหล่งอาหารของสัตว์ป่า จำนวน 2,107 แห่ง ช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้ง และสัตว์ป่ามีน้ำและอาหารในพื้นที่ป่าชายเลนในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา มีการใช้ประโยชน์ เนื้อที่เท่าไร/พิกัดใดที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเกษตรอื่นๆ การสร้างอาคารร้านค้า/ร้านอาหาร รวมถึงบ้านประชาชน” รัฐมนตรี ทส.กล่าว

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image