‘สุวิทย์’ ลงพื้นที่ มรภ.อุตรดิตถ์ ชมการใช้ ‘ถ่านไบโอชาร์’ ช่วยปรับปรุงบำรุงดิน กักเก็บน้ำสวนทุเรียน

“สุวิทย์” ลงพื้นที่ มรภ.อุตรดิตถ์ ชมการใช้ “ถ่านไบโอชาร์” ช่วยปรับปรุงบำรุงดิน กักเก็บน้ำสำหรับสวนทุเรียน

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่สวนศรีมูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เพื่อชมนวัตกรรมการใช้ถ่านไบโอชาร์ ของ ผศ.จันทร์เพ็ญ ชุมแสง ซึ่งได้มีการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตเตา/การเผาถ่านชีวภาพ หรือไบโอชาร์ (Biochar) ที่ใช้กระบวนการเผาไหม้ที่มีการควบคุมอุณหภูมิและอากาศ หรือจำกัดอากาศให้เข้าไปเผาไหม้น้อยที่สุด เรียกว่า “การแยกสลายด้วยความร้อนหรือกระบวนการไพโรไลซิส” ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 200-600 องศาเซลเซียส และระยะเวลาการเผาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และการเผาไหม้ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ ประโยชน์ของถ่านชีวภาพเพื่อการกักเก็บคาร์บอนและธาตุอาหารในดิน และปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดินเนื่องจากสมบัติของถ่านชีวภาพมีรูพรุนสูงช่วยสำหรับเก็บน้ำและเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ ปรับปรุงทางเคมีของดินเนื่องจากมีสภาพเป็นด่าง ลดความเป็นกรดของดิน มีปริมาณแคลเซียม ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียมค่อนข้างสูง มีพื้นที่ผิวความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวกสูงช่วยในการดูดยึดโลหะหนักในดิน

ประโยชน์ของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ได้นำมาส่งเสริมและพัฒนาเชิงพื้นที่ ในการการปรับปรุงบำรุงดินด้วยถ่านชีวภาพร่วมกับสารชีวภัณฑ์ ในพื้นที่วนเกษตรไม้ผลจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มมูลค่าและสร้างความตระหนักในการนำวัสดุเหลือทิ้งจากพื้นการเกษตรมาใช้ประโยชน์ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่อยู่บนพื้นฐานความเหมาะสมและเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ และยังเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและให้เกิดการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตเป็นชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือสังคมคาร์บอนต่ำ ผสมผสานการต่อยอดองค์ความรู้จากการวิจัยเชิงพื้นที่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงและนวัตกรรมการพัฒนาสับปะรดห้วยมุ่นแบบครบวงจร ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

โดยคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) อุตรดิตถ์ ได้ดำเนินการโครงการชุดเพื่อการพัฒนาสับปะรดห้วยมุ่นแบบครบวงจร ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ประกอบด้วย (1) หมู่บ้านถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปและการเพิ่มมูลค่าสับปะรดห้วยมุ่น (2) การอบรมการตรวจวิเคราะห์ดินเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตสับปะรดห้วยมุ่น (3) การชักนำการออกดอกสำหรับผลิตสับปะรดห้วยมุ่นนอกฤดู (4) นวัตกรรมเครื่องคัดแยกหน่อพันธุ์สับปะรดห้วยมุ่นอัตโนมัติ (5) ระบบสารสนเทศทวนสอบคุณภาพสินค้าสับปะรดห้วยมุ่น เป้าหมายร่วมกันที่จะตอบสนองกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยปัญญา เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรในชุมชนทุกมิติ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังได้ชมนวัตกรรมชุดกับดักแมลงศัตรูพืชในสวนทุเรียนของ ผศ.พิชัย ใจกล้า และ ผศ.วีระพล คงนุ่น เพื่อกำจัดแมลงศัตรูที่พบในทุเรียน ได้แก่ หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน หนอนเจาะผลทุเรียน หนอนกินขั้วผล ไรแดง เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยจักจั่นฝอย มอดเจาะลำต้น บุ้งหูแดง หนอนด้วงปีกแข็งกินรากทุเรียน แมลงค่อมทอง ด้วงบ่าหนามจุดนูนดำ เป็นต้น โดยงานวิจัยการป้องกันกำจัดด้วยกลวิธีกับดักแสงไฟ สามารถลดแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชในสวนทุเรียนในช่วงเวลาศึกษา 3 เดือน พบปริมาณและชนิดของแมลงในสวนทุเรียนในการศึกษาครั้งนี้ พบจำนวนแมลงทั้งสิ้น 1,993 ตัว จำแนกได้เป็น 6 อันดับ 12 วงศ์

Advertisement

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image